หัวข้อ: ดึงเศรษฐีต่างชาติ-ผู้เกษียณลงทุนไทย ‘เอกชน’ ชี้ไหลเข้า ‘เอฟดีไอ-อสังหาฯ’ เริ่มหัวข้อโดย: deam205 ที่ กันยายน 19, 2021, 06:14:35 am (https://i.ibb.co/YjqHw5z/RWimcfy0n-RCk4e4x-Bu79.webp) รัฐ-เอกชน หนุนแผนดึงเศรษฐี-ผู้เกษียณต่างชาติพำพักระยะยาว พร้อมลงทุนในไทย หอการค้า มั่นใจเม็ดเงินไหลเข้าประเทศ ส.อ.ท.คาดหนุนลงทุน “เอฟดีไอ-อสังหาฯ” มากกว่าพันธบัตร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนถูกกฎหมายเชื่อถือได้โดยการดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.ย.2564 กำหนดให้ชาวต่างชาติมาลงทุน 3 ส่วน คือ 1.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) 2.การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 3.การลงทุนพันธบัตรรัฐบาลไทย สำหรับเป้าหมายการเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยในประเทศไทยมี 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้มีความมั่งคั่ง 2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.ผู้ต้องการทำงานแบบ Work from Thailand 4.ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การลงทุนจากต่างชาติเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจเพราะภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นรายได้หลักได้รับผลกระทบหนัก รวมทั้งการบริโภคในประเทศลดลงทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวอื่นต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป ดังนั้นการที่ ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาไทยในช่วง 5 ปี รวม 1 ล้านคน จะเพิ่มเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาทนั้น หอการค้าไทยเห็นว่าจำเป็นเพราะได้หารือกับคณะทำงานปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนเพื่อให้ไทยน่าสนใจขึ้นเมื่อเทียบประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สำหรับมาตรการที่ออกมาจะสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ เพราะไทยเสียเปรียบเรื่องอื่น เช่น ค่าแรงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นต้องชูจุดแข็งของประเทศเพื่อดึงนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง สร้างจุดขาย Workation การเป็นประเทศน่าอยู่ปลอดภัย การสร้างความมั่นใจในระบบสาธารณสุข อ่านข่าว : ธปท.ชู 4 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จูงใจธุรกิจไทยลงทุนนวัตกรรม ดึงเศรษฐีต่างชาติ-ผู้เกษียณลงทุนไทย ‘เอกชน’ ชี้ไหลเข้า ‘เอฟดีไอ-อสังหาฯ’ รวมทั้งการที่ภาครัฐออกมาตรการให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศได้มากขึ้น รวมถึงมีการถ่ายทอดความรู้ใหม่ให้ไทย และเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบเงื่อนไขการลงทุนเอฟดีไอ อสังหาริมทรัพย์และพันธบัตรรัฐบาล เห็นว่าการลงทุนเอฟดีไอและอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มที่ต่างชาติสนใจมาก เพราะการลงทุนเอฟดีไอของไทยมีจุดดึงดูดหลายส่วน โดยเฉพาะการลงทุนภาคอุตสาหกรรม เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะที่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ก็น่าสนใจ เพราะหลังวิกฤติโควิดเชื่อว่าไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางของต่างชาติจึงเหมาะลงทุนรองรับการอยู่อาศัยหรือการท่องเที่ยว ซึ่งการมาตรการครั้งนี้จะให้สิทธิในการซื้อที่ดินได้ “ภาคเอกชนสนับสนุนมาตรการนี้ ซึ่งหลายประเทศก็มีคล้ายกัน เช่น แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น และเป็นการออกแพ็คเก็จในจังหวะดีช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวให้ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษมาทำงานในไทย ซึ่งเงื่อนไขส่วนหนึ่ง คือ เคยทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างน้อย 5 ปี จะมาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพราะต้องการแรงงานกลุ่มนี้มาก ซึ่งจะมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีของไทยด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สั่งการให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในการดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าไทย โดยจะยกเว้นไม่นำเงินที่ต่างชาตินำมาไทยมาคิดรวมกับรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนการลดอัตราอากรขาเข้าไวน์ สุราและซิการ์ ลงครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี ต้องพิจารณารายละเอียดว่าอนุมัติได้หรือไม่ โดยปัจจุบันอนุญาตนักท่องเที่ยวนำเข้าไวน์ สุรา คนละ 1 ลิตร และซิการ์ 200 มวน แบบไม่เสียภาษี แต่หากนำเข้ามากกว่านั้นต้องพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งอาจใช้สิทธิพิเศษลักษณะเดียวกับนักการทูตที่ให้นำเข้าจำนวนมาก โดยกระทรวงการคลังขอเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ “ไทยต้องการชาวต่างชาติที่มีเงินมาเที่ยวไทยมาใช้จ่ายเงินในไทย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเคยทำแล้ว เช่น ขยายเวลายกเว้นเก็บภาษีเรือสำราญและเรือยอร์ช จากเดิม 6 เดือน เป็น 2 ปี 6 เดือน นับจากวันนำเข้า เพื่อให้ชาวต่างชาติที่มากับเรือยอร์ชพำนักในไทยนานขึ้น เมื่อจอดเรือที่ภูเก็ตต้องนำเรือมาให้ช่างตรวจเครื่องยนต์ เติมน้ำมัน พักโรงแรม ซึ่งมาใช้สอยในภูเก็ตทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ” นายกฤษฎา กล่าวว่า การดึงต่างชาติที่มีศักยภาพสูงมาลงทุนและท่องเที่ยวในไทยมีสิ่งจำเป็นที่สุด คือ การอำนวยความสะดวก เช่น การต่อวีซ่า ระบบการอนุญาตของรัฐต้องอำนวยความสะดวก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการ ส่วนกรณีนำเงินฝากในต่างประเทศมาใช้ในไทยโดยไม่นำมาคำนวณเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อจูงใจให้นำเงินมาใช้จ่ายในไทยนั้น หากไม่ผ่อนปรนเรื่องนี้ ชาวต่างชาติไม่นำเงินเก็บหรือเงินออมมาใช้ในไทย แต่ถ้าผ่อนปรนเรื่องนี้ก็จะมีเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งพิจารณารายละเอียดเร็วที่สุด สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แล้ว เชื่อว่าไตรมาส 4 ปี 2564 จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น และกระทรวงการคลังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีแน่นอน แต่ต้องรอสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำรายละเอียดให้เสร็จก่อน ส่วนการใช้จ่ายเงินนั้นรัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาทชัดเจนแล้ว ซึ่งจะทยอยใช้ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เพื่อกระตุ้นเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์แล้ว
|