หัวข้อ: FTX โจ ไบเดน และพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เริ่มหัวข้อโดย: Chanapot ที่ พฤศจิกายน 16, 2022, 05:39:40 pm ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 2 ข่าวใหญ่ระดับโลกคงหนีไม่พ้นการล้มละลายและการกระทำทุจริตของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล FTX ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 2 ของโลก กับการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่อาจจะเป็นการชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองของ โจ ไบเดน ซึ่งทั้งสองข่าวมีจุดเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ คือ มีผู้เสียหายจากกรณี FTX ออกมาถามความเห็น ขอให้สืบสวนเพื่อเอาผิดและรวมตัวกันจำนวนหนึ่งขอให้ โจ ไบเดน คืนเงินที่ได้รับแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีกว่า 3 พันล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้เสียหาย เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเงินสนับสนุนที่ได้รับมาจาก Sam Bankman-Fried เจ้าของและ (อดีต) ผู้บริหาร FTX ซึ่งกำลังถูกกล่าวหาว่า กระทำทุจริตนำเงินและสินทรัพย์จาก FTX ออกไปใช้ในกิจกรรมส่วนตัวซึ่งอาจรวมถึงการสนับสนุนแคมเปญหาเสียงของ โจ ไบเดน ด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณี พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร เนื่องจากวัดพระธรรมกายรับบริจาคเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด กล่าวคือ เงินที่วัดได้รับการบริจาคนั้นมาจากกรณียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ซึ่งมีลักษณะข้อเท็จจริงและกฎหมายที่ใกล้เคียงกัน บทความนี้ผู้เขียนจะไม่พิจารณาถึงข้อเท็จจริงของทั้ง 2 กรณีว่ามีข้อเท็จจริงโดยแท้แล้วเป็นอย่างไรและจะต้องมีผลทางกฎหมายในท้ายที่สุดอย่างไร เพียงจะให้หลักกฎหมายอาญาของไทยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแก่ผู้อ่านได้พิจารณากันเป็นนันทนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของ FTX ว่าภายใต้ข้อเรียกร้องดังกล่าวสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร กรณีได้รับทรัพย์สินซึ่งได้มาจากการกระทำความผิดเข้าองค์ประกอบภายนอกฐานความผิดรับของโจร แต่อย่างไรก็ตามการกระทำความผิดอาญาใด ๆ ก็ตาม (ซึ่งมีหลักการเหมือนหรือใกล้เคียงกันทั่วโลก) ว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา จึงทำให้การกระทำผิดฐานรับของโจรนั้นผู้กระทำหรือผู้รับนั้นจะต้องรู้ด้วยว่า ทรัพย์สินที่รับไว้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด หากผู้รับไม่ทราบว่าทรัพย์สินนั้น ๆ ได้มาจากการกระทำความผิดแล้วผู้รับย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจร ดังนั้นแล้วทั้งสองกรณีผู้รับจะต้องทราบว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือให้มานั้นมาจากการกระทำความผิดจึงจะมีความผิดฐานรับของโจร นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังถูกพิจารณาว่าเป็นการฟอกเงินรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาจากความหมายของการฟอกเงิน กล่าวคือ การนำเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมายไปผ่านกระบวนการที่สามารถปกปิดแหล่งที่มี หรือสามารถตัดตอนร่องรอยทางการเงินให้ดูเสมือนเงินที่ได้มาจากกิจการที่ถูกกฎหมาย และจะย้อนกลับไปสู่เจ้าของในรูปแบบเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกกฎหมายพร้อมที่จะถูกนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ออกสู่สาธารณะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทราบได้ว่าเมื่อได้รับบริจาคแล้วหน่วยงานหรือบุคคลนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานเอกชนหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่ต้องเปิดเผยหรือรายงานการใช้จ่ายแก่หน่วยงานรัฐว่าจะเอาเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมานั้นไปใช้ทำอะไร มีผลให้ผู้บริจาคหรือผู้ให้เงินหรือสินทรัพย์จะได้ประโยชน์ในรูปแบบของตัวเงินหรือทรัพย์สินกลับไปหรือไม่อย่างไร จึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบสวนสอบสวนในเชิงลึกเท่านั้น เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบหลักกฎหมายแล้ว ในการดำเนินคดีหรือดำเนินการทางกฎหมายหากไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ สนับสนุนว่าผู้รับทราบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะต้องรับผิดในฐานความผิดดังกล่าว ความหวังของผู้เสียหายคงเหลือเพียงการเรียกร้องทรัพย์สินหรือฟ้องร้องคดีในทางแพ่งซึ่งเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยรัฐจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้คดีใด ๆ อย่างไรก็ดีหลักต่าง ๆ เป็นหลักอย่างกว้าง ๆ เท่านั้น ในแต่ละเรื่องย่อมมีพฤติการณ์ที่แตกต่างกันไป การเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ (แม้จะไม่อยากเกี่ยวข้อง) ไม่ว่าจะเป็นประชาชนคนธรรมดา พระสงฆ์ บุคคลระดับประเทศหรือแม้กระทั่งบุคคลระดับโลก ความรู้เท่าทันข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจึงมีส่วนช่วยป้องกันความเสียหายหรือปัญหาในการดำเนินชีวิตและการลงทุนให้ไม่เกิดขึ้นหรือลดน้อยลง นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
|