หัวข้อ: เรื่องของน้ำแข็งแห่งสยาม เริ่มหัวข้อโดย: suChompunuch ที่ กุมภาพันธ์ 13, 2016, 02:10:53 pm ในช่วงอากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวแบบนี้ คงทำให้หลายคนอยากรับประทานอะไรหวาน ๆ เย็น ๆ ใช้ชุ่มช่ำคลายร้อนหลังมื้อหลัก ซึ่งคงไม่พ้นไอศกรีมหลากรสหรือไม่ก็เป็นน้ำแข็งไสสีสันหวานตาน่ากินเย็น ๆ สักถ้วยคงจะดีไม่น้อย ในปีพุทธศักราช 2400 มีหลักฐานปรากฏไว้ว่ามีการนำเข้าน้ำแข็งจากต่างประเทศมาในประเทศไทยครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยการขนส่งผ่านทางเรือกลไฟชื่อว่า "เจ้าพระยา" (เป็นเรือโดยสารหรือเรือบรรทุกสินค้าที่ใช้เครื่องยนต์พลังงานไอน้ำในการขับเคลื่อนแทนการใช้ใบและแรงลม) ซึ่งเป็นเรือรับส่งสินค้าระหว่างสิงคโปร์กับกรุงเทพฯ ในครั้งนั้นเรือลำนี้ได้บรรทุกสินค้าที่แปลกใหม่อย่างหนึ่งมาด้วยก็คือ น้ำแข็ง ที่ถูกบรรจุในหีบไม้ฉำฉากลบด้วยแกลบ ผู้ที่สั่งนำเข้ามาคือ เจ้าพระยาพิสนฑ์สมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) ในปีพุทธศักราช 2411 ได้มีการนำน้ำแข็งมารับรองแขกผู้ใหญ่ที่มาดูสุริยุปราคา ช่วยสร้างความประทับใจในการดื่มของแขกเหรื่อชั้นผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีการตั้ง "โรงน้ำแข็งสยาม" ขึ้นเป็นโรงน้ำแข็งแห่งแรกของไทย โดยพระยาภัคดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) เมื่อปีพุทธศักราช 2448 แต่คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักโรงน้ำแข็งแห่งนี้ในชื่อ "โรงน้ำแข็งนายเลิศ" ต่อมาน้ำแข็งก็เริ่มแพร่หลายไปตามหัวเมืองใหญ่ ๆ รอบกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีการพัฒนานำน้ำแข็งมาใช้ในวงการอาหารมากขึ้น ทั้งในการเก็บรักษาคุณภาพของอาหาร และนำมาใช้ร่วมกับขนมหวานหลายอย่าง เช่น ลอดช่อง ลูกชิด ซาหริ่ม ทับทิมกรอบ หรือแม้กระทั่งนำมาราดน้ำกระทิลอยดอกมะลิ หรือขนุนในน้ำเชื่อม เพื่อให้มีความหอมหวานมากขึ้น นอกจากนี้แล้วยังมีการเอาน้ำแข็งมาดัดแปลงให้เป็นของหวานเมนูอื่น เช่น น้ำแข็งกด ด้วยการไสน้ำแข็งให้เป็นเกล็ดแล้วอัดแท่งในถ้วย ราดน้ำหวานเอาไม้เสียบ เพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น หรือเมนูน้ำแข็งไสสุดฮิตทุกยุคทุกสมัยที่ใช้การไสน้ำแข็งใส่ถ้วย ราดด้วยน้ำหวานหลากสี แต่งหน้าด้วยท็อปปิ้งให้ดูสวยงามน่ารับประทานยิ่งขึ้น แล้วเราจะเลือกซื้อน้ำแข็งอย่างไรให้ปลอดภัยห่างไกลโรคจากอาหาร อย่างแรกก็ต้องดูที่ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้ขนส่ง ต้องทำด้วยกรรมวิธีที่สะอาดทุกกระบวนการ ซึ่งยากในการเข้าไปดูที่โรงน้ำแข็ง ดังนั้นการเลือกซื้อน้ำแข็งที่บรรจุถุงเรียบร้อยแล้ว มีเลข อย. และข้อมูลผู้ผลิตชัดเจน ก็สามารถช่วยให้มั่นใจได้ว่าน้ำแข็งนั้นสะอาดปลอดภัยจริง ส่วนที่ตักแบ่งขายหรือที่ใช้ตามร้านอาหาร จะเป็นแบบที่ไม่มีฉลาก ตรงนี้เราต้องสังเกตสถานที่เก็บรักษาและภาชนะที่บรรจุ อย่างไรก็ตามน้ำแข็งกับหน้าร้อนในเมืองไทยถือว่าเป็นของคู่กันเสมอ ดังนั้นก่อนดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานของหวานเย็น ๆ คลายร้อน ก็ควรใส่ใจเรื่องของความสะอาดกันสักนิด เพื่อที่จะได้ปลอดภัยจากโรคระบบทางเดินอาหาร พร้อมทั้งได้ทานน้ำแข็งกันให้ชื่นใจครับ
|