หัวข้อ: การบริจาคเลือด สุขภาพดี ๆ ที่มาพร้อมกับการทำบุญ เริ่มหัวข้อโดย: Saiswatka ที่ ตุลาคม 10, 2016, 03:25:33 pm ในช่วงระยะหลังที่ผ่านมา หากเราติดตามข่าวสารจากหน้าหนังสือพิมพ์ หรือฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ เราก็มักได้ยินข่าวการประกาศขอ ‘บริจาคเลือด’ อยู่บ่อยครั้ง กระแสข่าวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเลือดยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ต่อเนื่อง แต่อาจด้วยเหตุผลความเข้าใจผิดบางประการทำให้หลายคนคิดว่าเรื่องของการบริจาคเลือดมีประโยชน์ในด้านการทำบุญทำกุศลเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วสำหรับตัวผู้บริจาคเองก็กลับได้รับประโยชน์ทางด้านสุขภาพด้วย ดังนั้นคอลัมน์ Wellness Talk ฉบับนี้จึงขอเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะร่วมนำเสนอเรื่องราวของการบริจาคเลือดให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจกันมากขึ้น
‘เลือด’ เป็นของเหลวสีแดงที่ไหลวนเวียนอยู่ภายในร่างกาย มีหน้าที่ลำเลียงอาหาร น้ำ ออกซิเจน รวมถึงสารอื่น ๆ ไปยังอวัยวะต่าง ๆ คิดเป็น 8% ของน้ำหนักตัว เลือดหนึ่งหยดสามารถแยกออกได้เป็นสองส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่เป็นน้ำเหลือง หรือเรียกว่า พลาสมา และส่วนที่เป็นมวลสาร ซึ่งก็คือ เซลล์เม็ดเลือด 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด โดยคุณพรทิพย์ รัตจักร์ หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ. ภูเก็ต อธิบายว่า แต่ละส่วนจะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป เช่น เม็ดเลือดแดง จะมีหน้าที่นำพาออกซิเจนที่ได้จากปอดไปแจกจ่ายให้เซลล์ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เม็ดเลือดขาวจะเป็นดั่งทหารกล้าที่ค่อยป้องกันประเทศ มีหน้าที่กำจัดแบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกาย ส่วนเกล็ดเลือด มีหน้าที่ในการห้ามเลือด โดยจะรวมตัวเป็นก้อนแข็งอุดตรงบริเวณหลอดเลือดที่ถูกตัดหรือฉีกขาดเวลาเกิดบาดแผลทำให้เลือดหยุดไหล เป็นต้น “เลือดแต่ละส่วนนั้นเขาจะมีอายุการทำงานของตนเอง เช่น เม็ดเลือดแดงจะอยู่ได้ประมาณ 120 วัน หลังจากนั้นก็จะถูกร่างกายทำลายไปโดยธรรมชาติ แล้วไขกระดูกก็จะผลิตเซลล์เม็ดเลือดชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งจะผลิตในปริมาณที่เกินกว่าความต้องการใช้จริง เพื่อสำรองส่วนหนึ่งไว้ในกรณีที่ร่างกายมีการสูญเสียเลือดแบบฉุกเฉิน เช่น จากอุบัติเหตุ การแท้งบุตร การผ่าตัด การคลอดบุตร หรือการมีประจำเดือน ดังนั้นการรับบริจาคเลือด จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปริมาณเลือดสำรองเท่านั้น ไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ ให้กับร่างกายค่ะ” นี่คือคำอธิบายถึงข้อกังขาที่บางคนเข้าใจว่า การบริจาคเลือดนั้นจะทำให้เกิดภาวะสูญเสียเลือดจนอาจส่งผลร้ายต่อร่างกาย แต่แท้จริงแล้วเป็นการนำเลือดเพียงบางส่วนที่เหลือจากการใช้งานมาก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นมากกว่า โดยผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้นั้น คุณพรทิพย์เน้นย้ำว่า คือ กลุ่มบุคคลที่มีอายุระหว่าง 17-70 ปี โดยน้องๆอายุ 17 ปีผู้ปกครองต้องยินยอมเพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้สูงอายุ 60-70 ผลการตรวจ Serum Feritin มีค่าปกติ มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 45 กิโลกรัม มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่อยู่ระหว่างการไม่สบาย หรือรับประทานยาใด ๆ ที่สำคัญไม่เป็นผู้ป่วย หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส เอชไอวี และโรคเอดส์ เป็นต้น “เลือดเป็นสิ่งที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงและช่วยชีวิตผู้อื่นนะคะ ดังนั้นการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาบริจาคนั้นจึงจำเป็นต้องมีความรอบคอบและละเอียดมากที่สุด โดยขั้นตอนแรกเราจะให้เขาทำการกรอกประวัติผู้บริจาค ซึ่งจะมีข้อซักถามต่าง ๆ มากมาย เขาก็ต้องตอบตามความเป็นจริง จากนั้นก็จะมีการพูดคุยเพื่อซักถามประวัติอีกรอบ และมีการตรวจความเข้มข้นของเลือดว่าเพียงพอที่จะสามารถบริจาคได้หรือไม่ ซึ่งหากดูจากบุคลิก หรือดูจากประวัติแล้วคุณเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการติดโรคต่าง ๆ เช่น เคยตรวจพบว่าตนเองเป็นไวรัสตับอักเสบบี แต่ปัจจุบันรักษาหายแล้ว อันนี้เราก็ต้องขอสงวนสิทธิ์ไม่ให้บริจาค เพราะถือว่าคุณก็ยังอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือ ปัจจุบันร่างกายแข็งแรงดี แต่ช่วงนี้สิวเยอะ มีการรับประทานยารักษาสิวชนิดต่าง ๆ อันนี้ก็ต้องมาดูด้วยว่าเป็นยาชนิดไหน มีผลต่อเลือดหรือไม่ เป็นต้นค่ะ” เมื่อการคัดกรองเบื้องต้นเสร็จสิ้น ก็นำสู่ขั้นตอนของการเจาะเข็มบริจาคเลือด โดยหากเป็นบุคคลที่มีน้ำหนักอยู่ในระหว่าง 45-50 กิโลกรัม เลือดที่รับบริจาคจะมีขนาด 350 ซีซี ส่วนผู้ที่น้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป จะมีขนาด 450 ซีซี ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการลงทะเบียน และใส่รายละเอียดของผู้ที่ให้บริจาคบนถุงบรรจุเลือด เช่น กรุ๊ปเลือด (A, B, O หรือ AB) หมู่เลือด Rh (Rh+, Rh-) เลข unit number เพื่อระบุที่มาของเลือดแบบชัดเจน จากนั้นก็จะทำการเจาะเลือดที่บริเวณข้อพับของแขนข้างใดข้างหนึ่งแล้วแต่ผู้ให้บริจาคจะถนัด โดยใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที “ตอนที่เจ้าหน้าที่เขาทำการเจาะเลือดนั้น เขาจะมีการเก็บเลือดของผู้ให้บริจาคไว้สองส่วนนะคะ คือ ส่วนที่อยู่ในถุงบรรจุเลือด และส่วนที่เก็บไว้ในหลอดตัวอย่าง โดยในส่วนของหลอดตัวอย่างนี้ เราจะนำไปทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ด้วยกระบวนการเฉพาะอีกครั้งเพื่อให้ได้เลือดที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด ที่จะนำไปให้ผู้ป่วย ซึ่งถ้าพบปัญหา เราก็จะทำการติดต่อกลับไปยังผู้ให้บริจาคเป็นการส่วนตัว แต่หากไม่พบปัญหาใด ๆ เลือดในถุงที่รับบริจาคก็จะเข้าสู่คลังเลือด เพื่อรอสร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่ต้องการค่ะ” สำหรับเลือด 1 ถุงที่ได้รับบริจาคนั้น สามารถนำไปปั่นแยกส่วน ด้วยเครื่องปั่นชนิดพิเศษตามส่วนประกอบหลัก ๆ ของเลือดได้ประมาณ 3 ชนิด คือ เม็ดเลือดแดง พลาสมา และเกล็ดเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยแต่ละโรคที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน คือ เลือดรวม (เลือดทั้งหมดที่มีอยู่ในถุง) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่เสียเลือดมากจากอุบัติเหตุ โดนยิง โดนแทง หรือการผ่าตัดใหญ่ จนเกิดภาวะช็อค และอาจเสียชีวิตได้ , เม็ดเลือดแดง ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจาง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งจะมีอาการเสียเลือดแบบเรื้อรัง ที่สำคัญร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงที่มีคุณภาพได้เอง , เกล็ดเลือด ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด , และพลาสมา ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียทุกชนิด โรคไข้เลือดออก โรคตับแข็ง เป็นต้น เป็นการสร้างประโยชน์แบบ 1 คนให้ 4 คนรับ... “ถ้าเป็นเลือดขนาด 350 ซีซี เราจะปั่นออกมาได้เป็น 2 ส่วน คือ เม็ดเลือดแดง และพลาสมา ส่วนขนาด 450 ซีซี จะปั่นได้ 3 ส่วน คือ คือ เม็ดเลือดแดง พลาสมา และเกล็ดเลือด ซึ่งหลังจากที่รับบริจาคแล้วนั้น เม็ดเลือดแดงจะเก็บอยู่ได้นานประมาณ 35-42 วัน พลาสมาจะทำการแช่แข็งไว้ได้นานประมาณ 1 ปี ส่วนเกล็ดเลือดจะอยู่ได้เพียง 5 วัน พอหลังจากนั้นเราก็ต้องทำลายทิ้ง เพื่อให้เลือดที่อยู่ในคลังเลือดเป็นเลือดที่สมบูรณ์และมีคุณภาพพร้อมใช้งานมากที่สุดค่ะ” ส่วนผู้ที่ให้บริจาคนั้น เมื่อการเจาะเลือดเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ก็จะนำขนมและน้ำหวานมาให้พักรับประทาน เพื่อปรับสภาพน้ำในร่างกาย พร้อมมอบยาธาตุเหล็กให้กลับบ้าน 1-2 ถุง ซึ่งก็ควรรับประทานอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะการเป็นเลือดจาง จากนั้นไม่นานไขกระดูกก็จะทำการสร้างเซลล์เม็ดเลือดชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนส่วนที่หายไปจากการบริจาค โดยเป็นเซลล์เม็ดเลือดที่มีการทำงานเต็มประสิทธิภาพมากกว่า ทำให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรงขึ้น และควรทิ้งระยะห่างประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพเต็มที่จึงจะเริ่มบริจาคใหม่อีกครั้ง “ธาตุเหล็ก นี่จะเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของเลือด การบริจาคเลือดก็จะทำให้ร่างกายเราสูญเสียธาตุเหล็กได้ ซึ่งถ้าสูญเสียมาก ๆ ก็จะเป็นภาวะเลือดจาง ดังนั้นหลังจากการบริจาคเลือดแล้ว ผู้ให้บริจาคก็ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ๆ เพื่อชดเชยส่วนที่หายไป หรือรับประทานยาธาตุเหล็กที่ทางเจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ ซึ่งก็ไม่ต้องกลัวว่าจะอ้วนขึ้นนะคะ เพราะยาธาตุเหล็กจะไปเสริมให้เลือดเรายังคงมีความเข้มข้นปกติ และสมบูรณ์พร้อมเท่านั้น ไม่มีส่วนที่จะส่งเสริมเรื่องอ้วนเลยค่ะ” สำหรับการบริจาคเลือดไม่ได้มีเพียงการบริจาคเลือดรวมเป็นถุง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีการบริจาคแบบแยกส่วน เช่น การบริจาคเกล็ดเลือดด้วย โดยเป็นการบริจาคที่แตกต่างจากการบริจาคเลือดทั่วไป คือ ก่อนการบริจาคเกล็ดเลือด เจ้าหน้าที่จะมีการขอเจาะเลือดไปตรวจนับเกล็ดเลือดก่อน เมื่อมีเกล็ดเลือดผ่านจำนวนที่กำหนด เจ้าหน้าที่ก็จะใช้เครื่องบริจาคเลือดแบบอัตโนมัติ ปั่นแยกเฉพาะเกล็ดเลือดบรรจุไว้ในถุง แล้วถ่ายเลือดส่วนอื่น ๆ กลับเข้าสู่ร่างกายของผู้บริจาคทันที ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้น 1 เดือนจึงจะสามารถบริจาคเลือดได้ตามปกติอีกครั้ง “ที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ. ภูเก็ต เรามีการรับบริจาคทั้งแบบเลือดรวม และเกล็ดเลือดเลยค่ะ ซึ่งที่ผ่านมาก็จะมีผู้เข้ามาร่วมบริจาคกันจำนวนหนึ่ง โดยหากเป็นการบริจาคเลือดทั่วไปก็เฉลี่ยแล้ววันละ 20 คน ส่วนการบริจาคเกล็ดเลือดเดือนหนึ่งก็ประมาณ 4-6 คนตามความต้องการของคนไข้ แต่ด้วยพื้นที่ที่เราดูแลนั้นครอบคลุมถึง 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน และก็มีจังหวัดใหญ่ที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อย่าง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ทำให้บางช่วงเวลาปริมาณเลือดที่เรามี ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นนอกจากการรับบริจาคภายในภาคบริการแล้ว เราจึงยังมีหน่วยเคลื่อนที่ออกไปรับบริจาคเลือดนอกสถานที่ตามจุดต่าง ๆ เช่น โรงเรียน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ที่มีการติดต่อมาด้วยค่ะ” สุดท้าย... ถ้าเนื้อหาและข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ภายในคอลัมน์นี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้คุณเริ่มรู้สึกอยากร่วมบริจาคเลือดแล้วล่ะก็ เราขอแนะนำต่อว่า คุณจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวก่อนบริจาคแบบล่วงหน้ากันสักเล็กน้อย ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคเลือด ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ รับประทานอาหารครบทุกมื้อ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ที่สำคัญงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดของคุณนั้นบริสุทธิ์ เหมาะสำหรับการมอบต่อให้กับผู้อื่น แถมยังมีสุขภาพดี ๆ ให้กับร่างกายของตนเองด้วยนะคะ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ.ภูเก็ต 38/193 ถ.รัตนโกสินทร์ 200ปี ต.ตลาดเหนือ อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 เปิดรับบริจาค วันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. วันอังคาร วันพฤหัสบดี เวลา 08.30-20.00 น. วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-15.00 น. email : phuketrbc@yahoo.com โทร. 0 7625 1178 โทรสาร. 0 7625 0185
|