หัวข้อ: เปลี่ยนแปลงโลกด้วยศิลปะ เริ่มหัวข้อโดย: komgrit1989 ที่ มกราคม 01, 2017, 01:12:17 pm เชื่อหรือไม่ว่า ‘ศิลปะ’ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นบนโลกของเราได้
พลังของศิลปะนั้นงดงามอย่างแท้จริง บางครั้งเราอาจมองว่าศิลปะเป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยจรรโลงจิตใจให้งดงามในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น ทว่าหลายคนอาจมองข้ามหรือไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว พลังของศิลปะกลับสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในระดับสังคมโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะบริสุทธิ์ที่กลั่นกรองออกมาจากฝ่ามือน้อยๆ ของ ‘เด็ก’ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล สำนักงานด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป หรือ EuropeAid จึงได้จัดการประกวดวาดภาพที่แสดงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย เพื่อให้เด็กๆ และผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย ผ่านงานศิลปะบริสุทธิ์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก แต่ก่อนที่จะไปประกวดกัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย ได้ชวนน้องๆ มาร่วมเวิร์คช็อปการสื่อสารจินตนาการและความคิดผ่านการวาดรูปกันเสียก่อน โดยเชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สยุมพร กาษรสุวรรณ หรือ ครูอู๊ด รองคณบดีพระราชวังสนามจันทร์ ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาถ่ายทอดความรู้ทางด้านศิลปะอย่างใกล้ชิด บรรยากาศภายในห้องสมุดเด็กวันนี้ คลาคล่ำไปด้วยน้องๆ หลายคนที่คนใจศิลปะ ต่างจับจองที่นั่งบริเวณโต๊ะวาดเขียนกันอย่างคึกคัก แม้ว่าตามกติกาการประกวดจะเปิดโอกาสให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 8-10 ปี แต่สำหรับวันนี้กลับมีน้องๆ อายุตั้งแต่ 2-13 ปีเลยทีเดียว ซึ่งล้วนแล้วแต่มาร่วมเวิร์คช็อปด้วยความตั้งใจ “เราไม่ได้บังคับว่าให้เด็กวาดอะไร แต่ถ้าเป็นเด็กโตหน่อย เราก็อาจสร้างเนื้อหาให้กว้างๆ เข้าไว้ เกี่ยวกับความเสมอภาพเท่าเทียมกันของผู้หญิง ซึ่งบางทีก็อาจเป็นเรื่องที่เด็กคิดไม่ถึง เพราะยากเกินไป เราก็ให้เขามองไปที่มุมใกล้ตัวเขาที่สุดอย่างเรื่องพ่อแม่และครอบครัว ให้เขาถ่ายทอดชีวิตประจำวันออกมาว่าเป็นอย่างไร” ครูอู๊ดกล่าวถึงวิธีการถ่ายทอดความรู้เรื่องศิลปะในวันนี้ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องทฤษฎีอะไรเลย แต่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ลองใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดในเรื่องความเท่าเทียม ซึ่งครูอู๊ดได้เปิดแนวคิดไว้แบบกว้างๆ และให้น้องๆ ได้ลองคิดต่อยอดเอง “เราจะได้เห็นการถ่ายทอดความคิดของเด็กเอง ซึ่งได้ผลมากกว่าที่เราไปกำหนดให้วาดตามโจทย์ เขาก็ถ่ายทอดออกมาตามความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่เขาเคยพบเห็น อย่างน้าทำงานที่บ้าน ไปเที่ยวทะเลกับครอบครัว เราไม่ได้กำหนดว่าอะไร แต่ขอให้มีเรื่องแม่และครอบครัวของเขาเข้ามาเกี่ยวข้อง” ครูอู๊ดเล่าต่อถึงผลลัพธ์ที่ได้อย่างน่าพอใจ เพราะน้องๆ สามารถถ่ายทอดแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมได้อย่างตรงไปตรงมาและใสซื่อบริสุทธิ์จริงๆ เห็นได้จากผลงานหลายชิ้นของน้องๆ ที่ถึงแม้จะไม่สามารถอธิบายเรื่องความสวยงามได้ด้วยทฤษฎีทางศิลปะ แต่กลับสามารถมองเห็นความรู้สึกภายในที่น้องๆ มีต่อคำว่าความเท่าเทียมได้ นั่นก็คือภาพครอบครัวที่มีพ่อแม่และน้องๆ อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น การเวิร์คช็อปในวันนี้จะเห็นได้ว่าครูอู๊ดจะไม่ได้สอนแบบมีแบบแผนเหมือนในห้องเรียนทั่วไป แต่เป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ลองทำด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างกับการสอนศิลปะให้กับผู้ใหญ่ อย่างที่ครูอู๊ดเปรียบเทียบไว้ว่า “การสอนศิลปะผู้ใหญ่ต้องการความถูกต้องชัดเจน แต่เด็กไม่ต้องถูกต้องชัดเจนก็ได้ เราก็มาเสริมว่าสิ่งไหนที่ขาดเหลือ เช่นเรากำหนดว่าครอบครัวของฉัน เขาก็อาจจะวาดแค่พ่อกับแม่ แล้วเราก็ไปเสริมเรื่องราวให้เขา อย่างพ่อแม่ไปไหน ไปปิกนิก ให้เขาได้คิดไกลมากกว่าที่เขาเห็น” ในโลกปัจจุบันที่ทุกสิ่งอย่างปรากฏออกมาในแบบสำเร็จรูป อย่างเช่นเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้มาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ตั้งอยู่รายล้อมเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมา จนบางครั้งอาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่กล้าพยายามลงมือทำอะไรด้วยตัวเองก็เป็นได้ เพราะทุกอย่างสำเร็จรูปไปหมดแล้ว “ศิลปะมีประโยชน์กับเด็กมาก และไม่ได้มีการกำหนดว่าอายุเท่าไรถึงจะเริ่มได้ ศิลปะสอนให้เด็กรู้จักเรื่องสี รู้จักการวิเคราะห์ แยกแยะ และส่งเสริมความกล้าแสดงออก เพราะฉะนั้นควรปลูกฝังให้รักศิลปะตั้งแต่เด็ก พอเด็กโตขึ้นมา เวลาเด็กทำอะไรจะมีความกล้าหาญที่จะทำ กล้าที่จะแสดงออก เพราะฉะนั้นถ้าเขากล้าวาดให้เราเห็น แสดงว่าเขากล้าทำในสิ่งที่เขากำลังคิดอยู่ ถ้าเขาไม่กล้าวาด แสดงว่าเขากลัวที่จะพูด กลัววาดไม่สวยแล้วโดนดุ เพราะฉะนั้นควรส่งเสริมให้เขาวาดรูป ไม่มีผิดถูก วาดไม่สวยก็ไม่เป็นไร เพราะมันคือการแสดงออก” ครูอู๊ดแสดงทัศนะให้เห็นว่าศิลปะมีความสำคัญต่อเด็กเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยส่งเสริมในเด็กรุ่นใหม่มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่แล้วที่จะทำให้ลูกรักมีศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ( วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย )ผู้เขียน แนะนำเรื่องโดย บทความ
|