หัวข้อ: ขับแบบประหยัดน้ำมัน เริ่มหัวข้อโดย: webmaster ที่ สิงหาคม 02, 2010, 05:08:09 pm (http://smbwheel.com/picweb/drive-economize.jpg)
ขับรถอย่างไรให้ประหยัด >> อุ่นเครื่องยนต์ ? ไม่ต้องรอนาน แต่ไม่ออกตัวทันที การอุ่นเครื่องยนต์อยู่กับที่จนกว่าจะถึงอุณหภูมิใช้งาน เครื่องยนต์ไม่มีภาระฉุดลากตัวถัง ทำให้เครื่องยนต์ร้อนช้า เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ มีมลภาวะสูง และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยเปล่าประโยชน์ วิธีที่ถูกต้อง คือ ทำให้เครื่องยนต์ร้อนเร็วที่สุด โดยจอดนิ่งหลังการสตาร์ทเครื่องยนต์เพียงครึ่งถึง 1 นาที เพื่อให้เครื่องยนต์เริ่มปรับสภาพเล็กน้อย ระหว่างรอให้ล็อกประตูทุกบาน ตรวจสอบมุมมองกระจกมองข้างและตำแหน่งเบาะ และคาดเข็มขัดนิรภัย จากนั้นให้ออกตัวด้วยรอบเครื่องยนต์และความเร็วไม่สูงนัก ขับคลาน ๆ ไป ยังไม่ควรกดคันเร่งหนัก ๆ เมื่อเครื่องยนต์ถึงอุณหภูมิทำงานจึงขับได้ตามปกติ (ประมาณ 5-10 นาที ก็ร้อนแล้ว) ส่วนการสตาร์ทเครื่องยนต์แล้วออกตัวทันที ทำให้เครื่องยนต์และเกียร์สึกหรอสูง เนื่องจากน้ำมันเครื่องและน้ำมันเกียร์ยังไม่ไหลเวียนเต็มที่ >> คันเร่ง ? กดได้ แต่ไม่ควรกระแทก สมมติต้องการกดคันเร่ง 70% การกระแทกคันเร่งอยางแรงและเร็ว ซึ่งทำให้รอบเครื่องยนต์ตวัดขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ย่อมสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าการค่อย ๆ กดคันเร่งไล่รอบขึ้นไปจนถึง 70% และควรรักษาน้ำหนักในการกดคันเร่งให้สม่ำเสมอ ไม่ควรเบิ้ลคันเร่งทั้งในขณะขับหรือจอดนิ่ง >> ความเร็วและจังหวะเกียร์ ? ต้องสัมพันธ์กัน คำแนะนำสั้น ๆ มักก่อให้เกิดการปฏิบัติผิด เช่น ถ้าต้องการประหยัดน้ำมัน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80-100 กม./ชม. ซึ่งไม่จริงเสมอไป เพราะต้องเกี่ยวข้องกับจังหวะเกียร์ที่ใช้ด้วย เช่น ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ถ้าใช้เกียร์ 3 รอบเครื่องยนต์จะสูงมาก มีการสึกหรอและสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูง จึงต้องเน้นที่รอบเครื่องยนต์ เกียร์ ร่วมกับความเร็วด้วยเสมอ ระบบเกียร์ธรรมดา ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์ที่รอบต่ำเกินไป เพราะคาดหวังเรื่องความประหยัด เนื่องจากกำลังของเครื่องยนต์มีน้อย เมื่อต้องการอัตราเร่ง ก็ต้องกดคันเร่งลึกขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรลากเกียร์เกิน 3,000 รอบ/นาที โดยเฉลี่ยควรเปลี่ยนขึ้นในเกียร์สูงประมาณ 2,500-3,000 รอบ/นาที ระบบเกียร์อัตโนมัติเข้าเกียร์ D กดคันเร่งช้า ๆ เมื่อถึง 2,500-3,000 รอบ/นาที ให้ถอนคันเร่งเล็กน้อย ระบบควบคุมจะเปลี่ยนขึ้นสู่เกียร์สูง รถยนต์บางรุ่นที่มีปุ่มโอเวอร์ไดร์ฟ ควรเปิดใช้เมื่อความเร็วเกิน 80 กม./ชม. เพื่อลดรอบเครื่องยนต์ หากมีโหมดการควบคุมแบบอีโคโนมี่ หรือประหยัด สามารถเปิดใช้ได้ตลอด เพราะไม่ได้มีการลดทอนกำลังของเครื่องยนต์ แต่เป็นการควบคุมให้เปลี่ยนสู่เกียร์สูงที่รอบต่ำกว่าปกติ ถ้ามีปุ่มโอเวอร์ไดร์ฟให้เปิดไว้ตลอด เพราะเป็นการทำให้มีเกียร์สูงสุดใช้งาน ซึ่งช่วยลดรอบเครื่องยนต์ ลดความสึกหรอ และเน้นความประหยัดเป็นพิเศษ >> เบรก ? ใช้เท่าที่จำเป็น ควรประเมินสถานการณ์ของการจราจรด้านหน้า ไม่เร่งความเร็วรถยนต์จนชิดคันหน้าแล้วเบรก ควรใช้ความเร็วและเว้นระยะห่างจากคันหน้าอย่างเหมาะสม ถ้าต้องการลดความเร็วแบบไม่กระทันหัน ให้ถอนคันเร่งอย่างเดียว ไม่ควรรีบเบรก เพราะถ้าเบรกจนรถยนต์ความเร็วลดลงมาก เมื่อต้องการเพิ่มความเร็ว ก็ต้องกดคันเร่งเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน >> แรงดันลมยาง ? ตรวจสอบเป็นประจำ หากลมยางอ่อน จะมีแรงต้านการหมุนมาก ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น ยางสึกหรอผิดปกติ และประสิทธิภาพในการทรงตัวลดลง จึงควรตรวจสอบแรงดันลมยางทุกล้ออย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง >> แอร์ ? เปิดก็ประหยัดได้ ถ้าใช้เป็น แม้คอมแพรสเซอร์แอร์จะกินแรงเครื่องยนต์น้อยลงเรื่อย ๆ ตามการพัฒนา จนปัจจุบันนี้กินแรงแค่ 2-6 แรงม้าเท่านั้น แต่การปิดแอร์เพื่อความประหยัด ก็ยังไม่มีความคุ้มค่า เพราะเมืองไทยมีอากาศร้อน ถ้าเปิดกระจกก็ทำให้รถยนต์มีการต้านลม โดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วสูง และมีฝุ่นควันมาก ควรเปิดแอร์ตลอดการขับขี่ แต่ให้ตั้งระดับความเย็นไว้ที่ 50-75% หรือเท่าที่พอใจ ไม่ใช่เร่งจนสุด เพื่อให้คอมเพรสเซอร์ตัดการทำงานบ้าง ลดภาระของเครื่องยนต์ และยืดอายุการใช้งานของคอมเพรสเซอร์ >> ของเหลวต่าง ๆ ? ควรเปลี่ยนตามกำหนด น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ ไส้กรองอากาศ ฯลฯ จำเป็นต้องเปลี่ยนตามกำหนด เพราะนอกจากจะมีผลต่อความสิ้นเปลืองน้ำมันแล้ว ยังมีผลโดยตรงต่ออายุการใช้งานของเครื่องยนต์อีกด้วย การใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ช่วยให้ประหยัดน้ำมันขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้แพงกว่าการใช้น้ำมันเครื่องธรรมดามากนัก เพราะสามารถใช้งานได้มากกว่า 10,000 กม. >> ของใช้ในรถยนต์ ? เลือกเฉพาะที่จำเป็น สัมภาระชิ้นใดที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ก็ควรเอาลง เพราะการบรรทุกสิ่งของที่ไม่จำเป็นเพียง 5-10 กก. ก็ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นได้ ส่วนเครื่องมือประจำรถและยางอะไหล่ ต้องมีติดรถยนต์ไว้เสมอ มีการทดสอบในหลายประเทศถึงกรณีความสิ้นเปลืองน้ำมัน เปรียบเทียบกับน้ำหนักบรรทุก พบว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น 10 กก. ก็มีผล และเมื่อขับเป็นระยะทางมาก ๆ ก็จะมีผลชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ >> อุปกรณ์อื่น ? ก็มีผลต่อความสิ้นเปลือง ความไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น คลัตช์ลื่น เบรกติด ลูกปืนล้อฝืด ศูนย์ล้อไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ ล้วนทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น ควรตรวจสอบและแก้ไขให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ >> อย่าประหยัด ? จนขาดความปลอดภัย การใช้เทคนิคข้างต้น ช่วยประหยัดน้ำมันได้พอสมควร แต่ยังจริงจังมากจนเกินไป หากสถานการณ์คับขัน เช่น ต้องเร่งแซงหลบหลีก ก็ต้องกดคันเร่งลากเกียร์เพื่อความปลอดภัยด้วย ที่มา: NaiGun@hondacityclub.com
|