หัวข้อ: ข้อคิดจากงานปัจฉิมนิเทศ เริ่มหัวข้อโดย: generacity ที่ พฤษภาคม 03, 2015, 09:46:57 am ขณะนี้มหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงใกล้สอบไล่ นักศึกษาปี 4 ก็กำลังสำเร็จการศึกษา ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่มักจัดงานปัจฉิมนิเทศให้นักศึกษาที่กำลังจบเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานหรือการศึกษาต่อ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ ได้จัดงานปัจฉิมนิเทศในวันศุกร์ที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาให้นิสิตชั้นปี 4 ที่กำลังสำเร็จการศึกษา ดังนั้นภาควิชาฯ จึงเชิญศิษย์เก่ามาเล่าประสบการณ์และข้อคิดต่าง ๆ ให้รุ่นน้องฟังครับ
ศิษย์เก่าสองคนที่ภาควิชาฯ เชิญมาคือ ดร.วิชญ์ เนียรนาทตระกูล ซึ่งจบปริญญาเอกจากภาควิชาฯ ที่ทำวิจัยเรื่องระบบอักขราวิสุทธิ์ และคุณอรรถพงศ์ ลิมศุภนาค หรือคุณบีม ซึ่งจบปริญญาตรีจากภาควิชาฯ และทำบริษัท Startup ที่กำลังโด่งดังในขณะนี้คือ ไดร์ฟ บอท (Drivebot) ผมจึงขอแนะนำระบบอักขราวิสุทธิ์ และไดร์ฟบอทให้ผู้อ่านรู้จักก่อนครับ และจะสรุปข้อคิดที่วิทยากรทั้งสองคนบรรยายในงานปัจฉิมนิเทศซึ่งผมคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน 1001 โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษาที่กำลังจบหรือผู้ที่กำลังทำงานครับ ระบบอักขราวิสุทธิ์คือระบบตรวจจับการลักลอกวิทยานิพนธ์ ซึ่งดร.วิชญ์ได้ทำวิจัยในระหว่างศึกษาปริญญาเอก ขณะนี้ระบบอักขราวิสุทธิ์นำมาใช้งานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ หลายแห่ง ผู้อ่านดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.akarawisut.com/ ไดร์ฟบอทคืออุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยตรวจสภาพรถ ลดค่าใช้จ่ายในการดูแล และทำให้ผู้ใช้ขับรถอย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ทีมงานไดร์ฟบอทได้ระดมทุนจากเว็บไซต์ Indiegogo จนได้เงินสนับสนุนจำนวนมากและกำลังวางจำหน่ายอุปกรณ์ในเร็วๆ นี้ ข้อมูลเกี่ยวกับไดร์ฟบอทอยู่ที่ http://www.drivebot.io/th/ วิทยากรทั้งสองคนได้เล่าประสบการณ์และข้อคิดต่าง ๆ หลายอย่าง แต่ผมสรุปข้อคิดที่วิทยากรทั้งสองคนพูดใกล้เคียงกันได้เป็นคำย่อคือ P.I.C. ดังนี้ครับ 1. Purpose (เป้าหมาย) ทุกคนควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วต้องการทำอะไร เช่น ทำงานกับบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบไหน ตั้งบริษัทของตนเอง เรียนต่อปริญญาโทหรือปริญญาเอก เป็นต้น 2. Innovation (นวัตกรรม) ผลงานของวิทยากรทั้งสองคนเป็นนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ ตัวอย่างคือ อักขราวิสุทธิ์แก้ปัญหาเรื่องการตรวจสอบว่ามีการลักลอกวิทยานิพนธ์หรือไม่ เพราะการตรวจสอบด้วยมนุษย์ทำได้ยากและเสียเวลา ถ้าซื้อระบบจากต่างประเทศก็มีราคาแพงและอาจไม่เหมาะกับประเทศไทย ไดร์ฟบอทช่วยแก้ปัญหาเรื่องคนที่ไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ ทำให้ตรวจสอบสภาพรถยนต์ได้ง่ายขึ้นโดยใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือที่คนส่วนใหญ่มีอยู่แล้ว 3. Communication (การสื่อสาร) การทำงานจริงต้องใช้ทักษะหรือความรู้หลายด้าน ความรู้ทางเทคนิคอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะเราต้องทำงานกับคนในศาสตร์อื่นที่ไม่เข้าใจศัพท์เฉพาะทางของเรา ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น การนำเสนอเนื้อหาให้คนอื่นเข้าใจง่าย การโน้มน้าวใจผู้อื่น การทำงานเป็นทีม การมีทักษะเข้าสังคม เป็นต้น ขอให้นิสิต นักศึกษาที่กำลังสำเร็จการศึกษาในปีนี้หรือคนที่กำลังทำงานลองนำหลักการ P.I.C. ไปใช้นะครับ ถ้าประสบความสำเร็จในการทำงานแล้ว ในอนาคต สถาบันการศึกษาเดิมของผู้อ่านอาจเชิญไปบรรยายในงานปัจฉิมนิเทศให้รุ่นน้องครับ. อ.ธงชัย โรจน์กังสดาล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|