Advertisement
เสียสละให้ใคร ลดได้เท่าไร | Unicef Thailand
สำหรับผู้ที่รักการให้ที่ชอบบริจาคเงินให้กับวัดวาอาราม มูลนิธิ หรือสถานศึกษา รู้หรือไม่ว่าเงินที่ได้เสียสละไปนั้น สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่ช่วยเหลือจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ
แต่ถ้าได้ยินอย่างนี้ก็อย่าเพิ่งดีใจกันไปจ้ะ เพราะเงินที่เราเสียสละไปบางครั้งก็ไม่สามารถนำมาหักภาษีได้เช่นกัน นั่นเป็นเพราะ การสละและสามารถนำมารวมหักลดหย่อนภาษีได้นั้น ผู้รับบริจาคจะต้องมีรายชื่อตามที่กรมสรรพากรระบุไว้ด้วยครัช หากเราต้องการรู้ว่าสถานที่ที่เราจะไปบริจาคนั้น เข้าข่ายสามารถนำเงินบริจาคมาหักภาษีได้หรือไม่ สามารถดาวน์โหลดสารบาญได้ที่
www.rd.go.th เพียงเท่านี้ เมื่อบริจาคแล้วก็อย่าลืมนำใบเสร็จ หรือใบอนุโมทนามาหักลดหย่อนภาษีกันนะนะ เรียกได้ว่าทำบุญปุ๊บได้บุญทันตาเห็นเลยทีเดียว และเงินที่ได้รับคืนจากการหักลบภาษีเราก็นำไปบริจาคได้อีกค่ะ เรียกว่า
ทำบุญต่อบุญกันไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ บริจาคอย่างไร หักภาษีได้ทวีคูณ (X2) การบริจาคที่ลดหย่อนได้ 2 เท่า จะเป็นการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ โรงเรียนขององค์การของรัฐบาล หรือโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เท่ากับว่าการบริจาคที่สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่านั้น สามารถบริจาคให้กับโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน
ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศึกษาธิการ มีรายชื่อตามที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด (หากเป็นการบริจาคให้กับโรงเรียนกวดวิชาจะไม่สามารถนำไปหักลบภาษีได้) ที่สำคัญการบริจาคของเรา ผู้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้นครัช จะบริจาคเป็นสิ่งของ หนังสือ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จะไม่สามารถนำมาหักภาษีได้ นอกจากนี้จะต้องมีหลักฐานจากโรงเรียนที่พิสูจน์ได้ว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ นั่นก็คือ ใบเสร็จของโรงเรียนนั่นเอง ตัวอย่างเช่น เสี่ยกวงบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา 100,000 บาท เสี่ยกวงสามารถนำใบรับเงินของโรงเรียนที่ช่วยเหลือมาเป็นหลักฐานในการลดภาษีได้สูงถึง 200,000 บาท แต่ก่อนที่เสี่ยกวงจะหักลบภาษีจะต้องดูว่าเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ ของเสี่ยกวงต้องมีจำนวน 2 ล้านบาทขึ้นไป จึงจะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้จำนวน 200,000 บาท
หากเสี่ยกวงมีเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนอื่นๆ เพียง 1.5 ล้านบาท เสี่ยกวงจะใช้สิทธิได้เพียง 150,000 บาทเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าเสี่ยกวง จะบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาจำนวน 100,000 บาท สามารถได้สิทธิลดหย่อนได้ 2 เท่า คือ 200,000 บาท แต่การลดหย่อนจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่นๆ ด้วยนั่นเองค่ะ ดังนั้น หากเสี่ยกวงมีเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนอื่นๆ เพียง 1.5 ล้านบาท การบริจาคและได้สิทธิลดหย่อนสูงสุดคือ 75,000 บาท ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ถึง 150,000 บาทนั่นเอง
เห็นอย่างนี้แล้ว ก็อย่าได้คิดมากไปจ้ะ ว่าจะใช้สิทธิลดหย่อนไม่คุ้มค่า ขอให้คิดว่าการบริจาคคือการทำบุญสุนทานอย่างหนึ่ง แต่ได้รับผลตอบแทนทางภาษีเพิ่มเติมจะช่วยให้สบายใจกว่า และไม่ต้องคิดมากเมื่อต้องการเสียสละ นอกจากนี้ ก่อนยื่นภาษีจะมีช่องให้แสดงเจตนาว่าต้องการบริจาคภาษีที่ชำระให้กับพรรคการเมืองด้วยหรือไม่
ในกรณีนี้ หากเรามีเงินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป และเป็นบุคคลธรรมดา มีสัญชาติไทยจึงจะแสดงความประสงค์ในการบริจาคให้กับพรรคการเมืองได้ โดยสามารถเลือกบริจาคได้เพียง 1 พรรคการเมืองในจำนวนเงิน 100 บาท ซึ่งการบริจาคในลักษณะนี้ จะไม่สามารถนำเงินบริจาคไปหักลดหย่อนใดๆ ได้นะจ้ะ ทางกรมสรรพากรจะทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อพรรคการเมือง และจัดสรรเงินที่บริจาคให้กับพรรคการเมืองที่ต้องการเท่านั้นค่ะ ซึ่งการบริจาคนี้ เราไม่ได้เสียเงินเพิ่มเติมแต่อย่างใด เช่น เราจะต้องเสียภาษีจำนวน 1,000 บาท และยินดีที่จะบริจาคให้กับพรรคการเมือง ดังนั้น เงินจำนวน 1,000 บาท ทางกรมสรรพากรจะจัดสรรจำนวน 100 บาท ให้กับพรรคการเมืองที่เราระบุและอีก 900 บาทจะเป็นเงินภาษีที่จ่ายให้กับกรมสรรพากรจ้ะ รู้อย่างนี้แล้ว ปีนี้ต้องการบริจาคให้ใคร ลดหย่อนได้เท่าไรก็สามารถเลือกบริจาคกันได้เต็มที่นะ บริจาคปีไหน ใช้สิทธิทางภาษีปีนั้นนะคะ“
อ่านต่อที่ : ยูนิเซฟ
ที่มา :
[url]https://www.unicef.or.th/supportus/th/campaign/give_monthly_donation_th[/url]
Tags : เงินบริจาค ลดหย่อนภาษี, ทำบุญ, ลดหย่อนภาษี