Advertisement
ในช่วงของมหกรรมการแข่งชันกีฬา
พาราลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020 ที่ผ่านมา เชื่อว่าหากใครได้ติดตามชมการแข่งขัน คงได้รับพลังใจดี ๆ จากเหล่านักกีฬาคนพิการที่ร่วมเข้าแข่งขัน หรืออย่างน้อยก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ทุกคนหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น
เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ล้วนได้แสดงให้คนทั้งโลกเห็น ไม่ว่าใครจะมีร่างกายอย่างไรก็สามารถออกกำลำลังกายและเล่นกีฬาได้ ยิ่งหากมีความตั้งใจด้วยล่ะก็ สามารถทำทุกอย่างและประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
เอ๋-อรวรรณ บุตรโพธิ์ นักกีฬายกน้ำหนักคนพิการทีมชาติไทย หนึ่งในนักกีฬาคนพิการจากทั่วโลกที่ ‘ซิตี้แบงก์’ ให้การสนับสนุน บอกว่าต้องพยายามทำให้ตัวเองมีวินัยกับในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการออกกำลังกายและการซ้อมกีฬา โดยแนะนำ 3 พื้นฐานเบื้องต้นที่ต้องทำ ก่อนออกกำลังกายและฝึกซ้อม ไม่ว่าผู้นั้นจะมีร่างกายปกติและพิการหรือไม่ก็ตาม
1 : การรู้จักร่างกายของตัวเองก่อนออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ
แน่นอนว่าไม่มีใครรู้จักร่างกายของตัวเองดีไปมากกว่าตัวเราเอง ดังนั้นก่อนออกกำลังกายในแต่ละครั้ง อันดับแรกคือ ควรเช็คและตรวจสอบสมรรถภาพร่างกายของตัวเองให้ดีว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้ร่างกายมีอาการหรือเป็นโรคอะไรที่ต้องควรระมัดระวังอยู่หรือไม่ รวมถึงการตรวจอวัยวะว่ามีส่วนไหนกำลังเป็นปัญหาด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะที่เป็นพวกข้อต่อ เช่น แขน ขา ข้อ คอ หรือเข่า ฯลฯ เพราะการเช็คร่างกายก่อนที่จะออกกำลังกายทุกครั้งจะทำให้เราสามารถเลือกเล่นกีฬา หรือเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อตนเองได้นั่นเอง
2 : อย่าละเลย “วอร์มอัพ” และ “คูลดาวน์” ด้วยทุกครั้ง
เพราะร่างกายเราประกอบไปด้วยทั้ง เซลส์ เส้นประสาท กระดูก และข้อต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีการเชื่อมต่อกัน ดังนั้นการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการบาดเจ็บได้ ถึงแม้จะเจ็บแค่เพียงส่วนเดียว แต่ก็อาจทำให้ส่วนอื่น ๆ ในร่างกายที่มีการเชื่อมต่อกันเกิดปัญหาตามมาได้
ดังนั้นก่อนออกกำลังกายทุกครั้งจึงควรมีการอบอุ่นร่างกาย หรือการ วอร์มอัพ (Warm-up) ที่ทุกคนรู้จักกันดี เพื่อให้ร่างกายได้การเรียนรู้และเตรียมพร้อมเสียก่อน รวมถึงหากออกกำลังกายเสร็จแล้วก็ควรให้ร่างกายได้ คูลดาวน์ (Cool-down) หรือ การยืดเหยียดร่างกาย เพื่อให้ร่างกายได้ค่อย ๆ ปรับตัวเพื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
3 : แข็งแรงแค่ร่างกายไม่พอ จิตใจก็ต้องแข็งแกร่งด้วยเหมือนกัน
แม้ อรวรรณ บุตรโพธิ์ เป็นนักกีฬา, การออกกำลังกายและซ้อมกีฬาเป็นกิจวัตรปกติที่ต้องทำ แต่เธอก็ยอมรับว่า ก็มีความขี้เกียจและรู้สึกท้อเหมือนทุก ๆ คนเช่นกัน
ดังนั้นเธอจึงพยายามทำให้ตัวเอง มีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ และตั้งเป้าหมายในชีวิตอยู่เสมอ เพราะถ้าแค่ร่างกายแข็งแรงแต่จิตใจไม่เข้มแข็งพอก็อาจไม่สามารถทำให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้
ดังนั้นในด้านของจิตใจ ทุก ๆ วันเธอจะเริ่มต้นที่ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก และค่อยรับกำลังใจจากคนรอบ ๆ ตัวเอามาเป็นแรงผลักดันให้กับตนเองเพิ่มเติม เพื่อให้ทั้งร่างกายและจิตใจมีความแข็งแกร่งในการทำสิ่งต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน
สุดท้ายนี้ เอ๋-อรวรรณ บอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในสอง ‘ซิตี้แอมบาสซาเดอร์นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย’ คู่กับ เรวัตร์ ต๋านะ นักกีฬาวีลแชร์เรสซิ่ง พร้อมขอขอบคุณ 'ซิตี้แบงก์' ที่ได้มองเห็นถึงความพยายามในการเป็นนักกีฬาของตัวเองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะการสนับสนุนจากซิตี้ทำให้ตนเองได้รับโอกาสดี ๆ ทั้งด้านทุนทรัพย์ ทำให้สามารถดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวได้เป็นอย่างดี
รวมถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทั้งคนพิการหลาย ๆ คน ตลอดจนคนปกติทั่วไปได้เห็นถึงความตั้งใจ ความมุ่งมั่นของตนเอง พร้อมเอาแรงบันดาลใจหรือแรงผลักดันที่ได้รับจากตนเองที่ถึงแม้จะเป็นคนพิการก็สามารถดำเนินชีวิตและใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการพิชิตความฝันและก้าวสู่เป้าหมายให้สำเร็จได้ไม่แพ้คนปกติทั่วไป
ทั้งนี้ ‘ซิตี้’ ในฐานะองค์กรที่ตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยก และการเคารพในความหลากหลาย ได้ร่วมมือกับ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล ( IPC) ในการเป็นพันธมิตรระดับนานาชาติ พร้อมให้การสนับสนุน คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งชาติ (NPC) ใน 23 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ผ่านการดำเนินงานด้านแคมเปญการสื่อสารระหว่างประเทศ การโปรโมทกิจกรรม ตลอดจนการสนับสนุนทุนทรัพย์สำหรับนักกีฬาพาราลิมปิก เพื่อสร้างความรับรู้ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของการมีส่วนร่วมในสังคมของผู้พิการให้กับสังคมโลกผ่านความสามารถ ความมุ่งมั่น และแรงบันดาลใจที่สะท้อนผ่านนักกีฬาพาราลิมปิก
การแข่งขันพาราลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020 มีนักกีฬาพาราลิมปิกจากทั่วโลกที่ซิตี้ให้การสนับสนุนเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนทั้งหมด 41 คนจาก 27 ประเทศ