Advertisement
“ผู้ปกครอง ต้องร่วมรับผิด ในกรณีที่ผู้เยาว์ไปทำละเมิดผู้อื่น “
บิดามารดา มีหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ความประพฤติในทุกๆด้านของบุตรผู้เยาว์ จะต้องคอยอบรมสั่งสอนดูแล ตลอดจนควบคุมบุตรผู้เยาว์มิให้ออกไปประพฤติตนก่อให้เกิดความเดือดร้อน เสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย โดยจะอ้างไม่ได้ว่า ไม่ได้บอกหรืออนุญาตให้บุตรผู้เยาว์ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น กฎหมายได้กำหนดให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ เมื่อไม่ดูแล หรือไม่ใส่ใจดูแลให้ดี หรือดูแลดีแล้ว แต่ใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอ เมื่อบุตรผู้เยาว์ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเดือดร้อน เสียหายแก่ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้อื่น บิดามาดาก็ต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ด้วย ดังตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา ตัวอย่างต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2535
จำเลยที่ 1 ยืมรถยนต์ของโจทก์ไปใช้เมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกาโดยจะส่งคืนในวันรุ่งขึ้นและรับว่าจะไม่ให้คนอื่นยืมต่อ จนเวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุ 19 ปี เป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไปเที่ยวโดยมีเพื่อนหญิงชายอีกหลายคนไปด้วย พากันไปรับประทานอาหารและดื่มสุราจนถึงเวลา 2 นาฬิกา ของวันใหม่ จึงพากันไปนอนที่โรงแรมจนเวลา 4 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ของโจทก์ออกจากโรงแรมพาเพื่อนหญิงกลับบ้านในระหว่างทางรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับได้พลิกคว่ำเสียหาย โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในฐานละเมิดที่จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของโจทก์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พลิกคว่ำเสียหาย และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะบิดามารดามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญายืมมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญายืมแล้วก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ฐานละเมิดด้วย จำเลยที่ 2 มีความประพฤติชอบมาโรงเรียนสาย ขาดเรียนจนไม่มีสิทธิสอบ แต่งกายไม่เรียบร้อย มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนักเรียนหญิงทางโรงเรียนเคยเรียกมารดามากำชับให้ช่วยดูแลแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ขาดการอบรมดูแลที่ดี บิดามารดาไม่ดูแลเอาใจใส่ ไม่ห้ามปรามในการเที่ยวเตร่จนดึกดื่น คืนเกิดเหตุก็ยังปล่อยให้ไปเที่ยวดื่มสุราในยามดึกและพาผู้หญิงไปนอนค้างที่โรงแรม จนเกิดเหตุขับรถยนต์ของโจทก์ไปพลิกคว่ำเสียหาย แม้เหตุละเมิดเกิดจากการขับรถยนต์โดยประมาท มิได้เกิดจากความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 อันบิดามารดาจะต้องระมัดระวังดูแลก็ตาม เมื่อบิดามารดาไม่เอาใจใส่ดูแลความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 ก็แสดงว่าไม่เอาใจใส่ดูแลว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่นั้นจะไปขับรถยนต์โดยประมาทอันเป็นความประพฤติอย่างหนึ่งหรือไม่ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นจึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9774/2544
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ นำสืบข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ที่บ้านไปโรงเรียน รถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของเพื่อนจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงเวลาไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เพราะการใช้อำนาจปกครองของบิดามารดารวมถึงการที่จะต้องคอยอบรมสั่งสอนดูแลตลอดจนควบคุมบุตรผู้เยาว์มิให้ออกไปประพฤติตนเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย การที่บุตรผู้เยาว์ทำละเมิดในระหว่างที่ไปเรียนหนังสือ ย่อมมิใช่ข้อที่บิดามารดาจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้
จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์และที่บ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรถจักรยานยนต์ ปกติจำเลยที่ 1 จะขับออกไปหาซื้อของนอกบ้านแสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้และเคยขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้าน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โดยปล่อยปละละเลยให้บุตรผู้เยาว์ของตนขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้านทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรรู้ว่าการขับรถจักรยานยนต์โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่ผ่านการสอบใบอนุญาตขับขี่นั้น ย่อมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย การที่จำเลยที่ 1 สามารถไปขับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นในวันเกิดเหตุจึงมีส่วนมาจากการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลหรือห้ามปรามจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาแต่ต้นเมื่อจำเลยที่ 1 ไปขับรถจักรยานยนต์ชนรถของผู้อื่นเสียหายเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา ๔๒๙ บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
คำค้นหาที่เกี่ยวข้อง :
ทนายเชียงใหม่เครดิตบทความจาก :
[url]https://www.xn--42cgi4cjab1btnchd1exbza5gvad6dvnqc6f.com/[/url]
Tags : รับว่าความ