Advertisement
“หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ” คำเหล่านี้หลายคนได้ยินอาจมองว่าเป็นเทคโนโลยีไกลตัว หรือแม้แต่คิดไปถึงภาพยนตร์แนวแฟนตาซีอิงวิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกกังวลว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาแย่งอาชีพของมนุษย์ ทำให้ตนเองเสี่ยงตกงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม “เทคโนโลยีก็เป็นโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ” รวมถึงการพัฒนาประเทศ ดังที่ ดร.นิพัทธ์ รัศมีโกเมน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พีทีที เรส จำกัด หรือ PTT RAISE เปิดเผยเอาไว้
ดร.นิพัทธ์ เริ่มจากการเปิดเผยที่มาของคำว่า “เรส (RAISE)” ในชื่อบริษัท ว่ามาจาก Robotic AI และ Service Enabler โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับบริษัทมิตซุยของญี่ปุ่น เพื่อให้บริการสำหรับองค์กรที่ต้องการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติไปใช้งานให้เกิดผลจริง เพราะเทคโนโลยีมีอยู่ แต่สิ่งที่ขาดคือคนที่สามารถนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมของไทย
ซึ่งมิตซุยเป็นบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยมานาน มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีและมีประสบการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ ปตท. ในฐานะที่เป็นบริษัทที่ดำเนินงานบนฐานของวิศวกรรม (Engineering Base) มีการปฏิบัติการทางอุตสาหกรรม ก็อยากจะเข้าไปช่วยผลักดันในส่วนนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยพัฒนาและเติบโตบนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยี
โดยเทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้นเป็นคำที่กว้างมาก ตั้งแต่แขนกลที่ใช้หยิบจับสิ่งของ ไปจนถึงระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัวในการรับรู้ของคนทั่วไปและเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมใช้งานแล้วในปัจจุบัน แต่การนำไปใช้ต้องผ่านการปรับแต่ง (Customization) เช่น จะติดตั้งแขนกลสำหรับหยิบจับอะไรไปวางไว้จุดใด หรือระบบเซ็นเซอร์จะกำหนดให้วัดค่าอะไรบ้าง เพื่อให้เข้ากับผลลัพธ์หรือการแก้ไขปัญหาที่ผู้ใช้งานต้องการ
“ขั้นตอนพวกนี้จริงๆ มองว่าต้องเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการจะเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จ เพราะถ้าเราสามารถออกแบบและทำความเข้าใจโจทย์ได้อย่างชัดเจน ตอนที่เอาตัวฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์มาตอบโจทย์ ก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายไปแล้ว อย่างที่ผมบอกว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมันมีพร้อม โดย PTT RAISE เองเป็น Service Enabler คือเราช่วยตั้งแต่ต้น” ดร.นิพัทธ์ กล่าว
การดำเนินงานของ PTT RAISE มาจากแนวคิดที่ว่า “เพราะเสื้อขนาดเดียวไม่อาจใส่ได้พอดีกับทุกคน (One
Lottovip Size Not Fit All)” แต่ต้องปรับให้เข้ากับแต่ละองค์กรหรือแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่ง ดร.นิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทได้เข้าไปช่วยดูแลทั้งบริษัทในกลุ่ม ปตท. หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ตลอดจนภาคการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
โดย PTT RAISE มุ่งมั่นที่จะเข้ามาสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทย เพราะหลายองค์กรแม้จะรู้ว่าเทคโนโลยีเป็นของดี แต่ก็ยังไม่นำมาใช้ ซึ่งมีถึงร้อยละ 80 ของอุตสาหกรรมที่ยังมีพื้นที่ให้นำเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาภาคการผลิตของตนเอง และสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตอันใกล้คือการปิดช่องว่าง ช่วยให้ทุกอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด นำไปสู่ประสิทธิภาพในการแข่งขันที่ดีขึ้น
ส่วนคำถามที่ว่า “บุคลากรด้านหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยมีเพียงพอหรือไม่” ดร.นิพัทธ์ ระบุว่า “หากเป็นคนที่จบการศึกษามาทางด้านนี้โดยเฉพาะต้องบอกว่ามีน้อย” อย่างไรก็ตาม “ผู้ใช้เทคโนโลยีได้ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาเฉพาะด้านเทคโนโลยีนั้นเสมอไป” สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ความพร้อมในการเรียนรู้” หากมีข้อนี้ก็มีโอกาสนำเทคโนโลยีไปใช้แล้วประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้นการฝึกอบรมก็เป็นอีกเรื่องที่จำเป็น
“อันดับแรกคือการเรียนรู้ตัวเทคโนโลยีว่ามันคืออะไร มันทำอะไรได้หรือไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ที่เทคโนโลยี อย่างหุ่นยนต์ หรือ AI จะเข้ามาแทนคนได้ทั้งหมด มันมีทักษะอีกเยอะเลยที่ผมเชื่อว่าคงไม่มีวันที่จะสามารถมาแทนสมองมนุษย์ได้ ซึ่งผมว่าสิ่งที่สำคัญอันหนึ่งในการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี คือการทำความเข้าใจว่าสิ่งใดที่ควรจะต้องใช้มนุษย์เป็นคนทำ อะไรควรจะต้องใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อะไรที่มันไม่จำเป็นต้องทำแบบเดิมแล้วใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมให้มันดีขึ้น” ดร.นิพัทธ์ กล่าว
ผู้จัดการทั่วไป PTT RAISE ทิ้งท้ายด้วยการอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า สมองมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนเมื่อต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างหนึ่ง และไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดกว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาจนกระทั่งสมองกลสามารถคิดได้ในระดับเดียวกัน ดังนั้นการตัดสินใจภายใต้ตัวแปรหลากหลายทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์หลายด้าน ก็ยังน่าจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ซึ่งมีความเข้าใจในธุรกิจนั้นสามารถทำได้ดีกว่า
“PTT RAISE” เชื่อมั่นและพร้อมทำงานกับทุกภาคส่วนทั้งเจ้าของเทคโนโลยีและผู้ต้องการใช้เทคโนโลยี เพื่อนำประเทศไปสู่จุดที่ทำการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ในท้ายที่สุด