Advertisement
เปลือกรกฟ้าเปลือกรกฟ้าเป็นเปลือกของต้นรกฟ้า อันมี
ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Terminalia Heyne ex Roth.
ในวงศ์ Combretaceae
บางถิ่นเรียก กอง (พายัพ สงขลา) เชือก (สุโขทัย) เซือก( อีสาน) ฮกฟ้า (พายัพ)
เปลือกรกฟ้าเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๒๐ – ๓๐ เมตร ขนาดโคนวัดรอบวงได้ราว ๑.๕ – ๒ เมตร เปลือกนอกขรุขระ สีเทาดำ มีรอยแตกลึก กิ่ง ใบอ่อน และช่อดอกมีขนนุ่ม สีสนิมเหล็ก เมื่อแก่เกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้าม หรือเกือบตรงกันข้าม ใบตอนบนๆมักเรียงสลับกัน รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๕ – ๑๐ ซม. ยาว ๑๐ – ๑๕ เซนติเมตร ปลายใบแหลม หรือเกือบแหลม โคนใบมนหรือเบี้ยว เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มักมีต่อม ๑ คู่ อยู่ที่ผิวใบด้านล่างตรงกลางใบใกล้โคนใบ ก้านใบยาว ๑ – ๒ เซนติเมตร เกลี้ยง ดอกออกเป็นช่อเล็กๆตามซอกใบหรือที่ปลายยอด ยาว ๖ – ๔ เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงมีโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม ๕ กลีบ เกสรเพศผู้มี ๑๐ อัน รังไข่มี ๑ ช่อง ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก แข็งกว้าง ๒.๕ – ๕ ซม. ๔ – ๖ ซม. มีปีกเป็นครีบหนาเป็นมัน ๕ ปีก ปีกกว้างกว่าตัวผล มีเส้นแนวนอนจากแกนกลางไปยังขอบปีกจำนวนมาก มีเมล็ด ๑ เมล็ด
ตำราคุณสมบัติยาโบราณว่าเปลือกรกฟ้ามีรสฝาดเฝื่อน ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้อาเจียน ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ ล้างบาดแผลทาแผล ห้ามเลือด ส่วนรากว่ามีรสเฝื่อน เป็นยาขับเสมหะ