Advertisement
“อภิรักษ์" ตอบสิบคำถามแจงความในใจชิง"ประมุขประชาธิปัตย์"
[/size][/b]
"หล่อเล็ก"ยืนยันความตั้งใจและความพร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยันหลัง 15 พ.ค. รู้คำตอบร่วมรัฐบาลหรือไม่
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ตอบ 10 ประเด็นคำถามจากสื่อมวลชน เกี่ยวกับความพร้อมชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งส่งเข้ามาทาง Line ID: apirak_bkkในช่วงที่ผ่านมา และพร้อมที่จะตอบคำถามอื่นๆในช่วงจากนี้ไปว่า
คำถามเเรก การฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ ภารกิจหลักของหัวหน้าพรรค หลังวิกฤตจากการเลือกตั้ง 2562
นายอภิรักษ์ ตอบว่า "ผมจะทำงานเป็นทีม รวมพลังคนทุกรุ่นและทุกฝ่ายในพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงพรรคให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและสังคมไทยยุคใหม่ ที่มีความต้องการที่หลากหลายแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ควบคู่ไปกับการสืบสานเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของพรรค ที่ยึดถือการทำงานในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีบทบาทในการทำงาน ร่วมกับมืออาชีพและเครือข่ายกลุ่มต่างๆในสังคม ส่งเสริมและต่อยอดบทบาทของเครือข่ายสาขา และสมาชิกพรรคด้วยการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับปรุงการสื่อสารของพรรค โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในการเข้าถึงคนยุคใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน และสังคมไทยให้ก้าวเดินไปข้างหน้าให้ทันต่อยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนไป”
คำถามที่2. หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค มองกระแสความขัดแย้งภายในพรรคอย่างไร
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จะสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของคนทุกรุ่น และทุกฝ่ายในพรรค และพร้อมจะพูดคุยกับทุกคน เพื่อรวมพลังความหลากหลายของคนในพรรคให้เป็นพลังเชื่อมโยงกับเครือข่ายสังคมภายนอกที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของพรรค เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเดินไปข้างหน้า
คำถามที่3. จะใช้กลยุทธ์ใดในการบริหารพรรค ท่ามกลางปัญหาในแต่ละพื้นที่
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จะปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการพรรค ให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหาร รวบรวมข้อมูลความต้องการของประชาชน และเครือข่ายสาขาในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Big Data และ AI มาใช้ในการทำงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีบทบาทในการทำงาน รวมถึงกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ และสร้างความเข้มแข็งให้ทีมงานในพื้นที่ในแต่ละจังหวัดและเขตเลือกตั้ง ส่งเสริมบทบาทและการทำงานร่วมกับท้องถิ่น และเครือข่ายต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานในการตอบโจทย์ปัญหาในแต่ละพื้นที่
คำถามที่ 4. หลักเกณฑ์และรายชื่อทีมที่จะดึงมาช่วยทำงาน
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า " จะพิจารณาจากประสบการณ์ความรู้ความสามารถของแต่ละท่าน รวมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานที่อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง และก้าวเดินไปข้างหน้า มาเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และสังคมในยุคสมัยใหม่ รายชื่อทีมอภิรักษ์ ที่จะมาร่วมเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนการทำงานในครั้งนี้ คือ การประสานการทำงานระหว่างสมาชิกพรรคและทีมที่ปรึกษา เรามีแนวร่วมและเครือข่ายครบรอบด้าน ตรงนี้คือการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของพรรคให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในยุคเศรษฐกิจใหม่ได้ทัน”
คำถามที่5. การบริหารงานในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในสไตล์ของอภิรักษ์ เป็นอย่างไร
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า " ก้าวต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์ #ก้าวต่อไปของประเทศไทย หรือ Next คือ การสร้างประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเจตนารมณ์ของผมที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ มุ่งมั่นทุ่มเททำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ในฐานะที่ผมเคยผ่านงานบริหารระดับสูงในองค์กรรัฐและเอกชนมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าฯ กทม. 2 สมัย หรือ CEO ขององค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ทำให้ผมสั่งสมประสบการณ์และความรู้อย่างลึกซึ้งในการบริหาร เพื่อให้องค์กรทำงานและเดินหน้าตามเป้าหมายได้ กลยุทธ์ที่ผมวางไว้ เมื่อเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. สิ่งที่ทำได้ทันที คือ
- การบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยเทคโนโลยียุคใหม่ในการทำงาน- ตั้งเป้าหมายร่วมในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป- ทำงานเป็นทีม รวมพลังคนทุกยุค และทุกกลุ่ม รวมถึงคนในเครือข่ายต่างๆในสังคม”
คำถามที่6. เมื่อได้รับเลือกให้เป็น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 3 สิ่งแรกที่จะทำคืออะไร
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จะอาศัยความร่วมมือจากคนในพรรค การระดมความคิด การพบปะสมาชิก รวมถึงเครือข่ายที่ปรึกษาภายนอกพรรคโดยผมจะเร่งปรับ 3 สิ่งหลัก คือ 1. โครงสร้างการบริหารจัดการพรรคให้ทันสมัย รวดเร็ว และปรับตัวได้ในสังคมยุคดิจิทัล 2. วางกลยุทธ์พรรค โดยใช้เทคโนโลยียุคใหม่อย่าง AI และ big data ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน เพื่อสร้างพรรคให้กลับมาเป็นผู้นำในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานประชาธิปไตย และ 3. สื่อสารให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยใช้เครื่องมือการสื่อสาร ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์
คำถามที่7. ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยุค 2019 จะรักษาสมดุลภายในพรรคอย่างไร ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
นายอภิรักษ์กล่าวว่า นโยบายในการทำงานที่ผมจะผลักดัน คือ การทำงานที่เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคในทุกพื้นที่ ได้ส่งมอบภารกิจของตนเข้าส่วนกลาง เพื่อระดมกลยุทธ์และสื่อสารต่อสังคม รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีการประสานงานร่วมกับกลุ่มยุวประชาธิปัตย์, DIP, NewDem และเครือข่ายนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศด้วย เพื่อต่อยอดสิ่งดีที่พรรคได้สั่งสมมายาวนาน ส่งต่อคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของพรรคเพื่อทำงานก้าวต่อไปอย่างกลมกลืน
คำถามที่8. ร่วม-ไม่ร่วม รัฐบาลนั้น
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า"ผมขอยืนยันคำตอบเช่นเดิม คือ จุดยืนของการตัดสินใจของพรรคจะเกิดขึ้น จากมติของที่ประชุมร่วมของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และ ส.ส.พรรค หลังการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ “
คำถามที่9. หากได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อยากฝากข้อความถึง 307 โหวตเตอร์ อย่างไร
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า "ผมขอเชิญชวนพี่น้องชาวประชาธิปัตย์ทุกท่านมารวมพลังเปลี่ยนแปลงพรรคของเรา ให้ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในสังคมไทยยุคใหม่ ควบคู่ไปกับการสืบสานเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของพรรคในการทำงานด้วยความทุ่มเท ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อความสุขของคนไทย และความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยในอนาคต"
คำถามที่10. ถ้าคะแนนเสียงที่ได้ไม่พอให้เป็นหัวหน้าพรรคจะเป็นอย่างไร
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า "ผมก็ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้มแข็งต่อไป และยินดีส่งมอบแนวคิดการสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกสู่ภาคประชาชน รวมทั้งแนวคิดใช้เทคโนโลยีพลิกวิถีการทำงานให้พรรคเข้มแข็ง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของพรรคให้แก่สมาชิกพรรคต่อไป"[/size]