Advertisement
เทียนไขที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำมาจากอะไร..ทำไมเผาไหม้ช้า
เมื่อพูดถึงส่วนประกอบหลักๆ ของเทียนไขคือ เนื้อเทียนกับไส้เทียน แต่ก็มีรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แฝงอยู่มากมาย
- ไส้เทียน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก ทำจากเส้นด้าย (ฝ้ายหรือป่าน) ฟั่นเป็นเกลียว ทำหน้าที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิงและตัวดูดซับขี้ผึ้งเหลวหรือพาราฟินเหลวให้ขึ้นไปตามตัวไส้เทียน เพื่อให้เกิดการเผาไหม้อย่างต่อเนื่อง ไส้เทียนต้องชุบสารป้องกันไฟ เพื่อไม่ให้ถูกเผาไหม้เร็วเกินไป และต้องเคลือบสารติดไฟง่ายเพื่อให้จุดไฟติดด้วย
- เนื้อเทียน ทำจากพาราฟิน หรือขี้ผึ้ง พาราฟินเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากกระบวนการแยกน้ำมันดิบ หรือก๊าซธรรมชาติ ในพาราฟินมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิด ชาวบ้านมักเรียกว่าขี้ผึ้งน้ำมันหรือขี้ผึ้งถ้วย ตามรูปร่างที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
- ส่วนขี้ผึ้ง คือ ไขที่ผึ้งขับออกมา เพื่อนำไปใช้สร้างและซ่อมแซมรังผึ้ง ขี้ผึ้งเป็นของผสมของสารต่างๆ เช่น สารไฮโดรคาร์บอน สารโมโนเอสเทอร์ สารไดเอสเทอร์ และอื่นๆอีกหลายชนิด เนื้อขี้ผึ้งมีความเหนียวและอ่อนตัวได้ง่ายเมื่อได้รับความร้อนไม่มากนัก นำมาเปลี่ยนรูปร่างได้ง่าย เมื่อใช้ในการฟั่นเทียน ก็เพียงแค่คลึงก้อนขี้ผึ้งรอบไส้ เวลาจุดเทียนขี้ผึ้ง จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จากขี้ผึ้งด้วย
แต่ขี้ผึ้งในธรรมชาติมีน้อยลงเรื่อยๆ ราคาก็สูงมาก จึงต้องนำพาราฟินมาหลอมและหล่อเป็นเทียน ที่ต้องใช้วิธีหล่อเพราะขี้ผึ้งพาราฟินแข็งและเปราะ ไม่สามารถนำมาฟั่นด้วยมือได้ เทียนสำหรับแกะสลักลวดลายจึงต้องผสมขี้ผึ้งธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความเหนียว เมื่อเราจุดเทียน ไส้เทียนจะลุกไหม้ ความร้อนของเปลวไฟทำให้เนื้อเทียนไขบริเวณโคนไส้เทียนเกิดการหลอมเหลว และถูกดูดซับเข้าไปในตัวไส้เทียน บางส่วนที่ถูกดูดซับจะระเหยกลายเป็นไอ เนื่องจากความร้อนจากเปลวไฟ และบางส่วนจะถูกเผาไหม้ไปพร้อมกับไส้เทียน เปลวเทียนที่เกิดขึ้นเป็นการเผาไหม้ของเนื้อเทียน ไม่ได้เกิดจากการเผาไหม้ของไส้เทียนโดยตรง