Advertisement
ทดสอบการขับขี่
Ford Ranger RAPTOR แบบจัดเต็ม บนเส้นทางออฟโรด ไขข้อสงสัยระบบช่วง FOX Racing มีดีอย่างไร วันนี้เราทดสอบมาให้ท่านทราบกันแล้ว
กับมาพบกันอีกครั้งสำหรับการทดสอบกระบะออฟโรดพันธุ์แกร่ง ที่เป็นกระแสร้อนแรงมากในบ้านเราอย่าง Ford Ranger RAPTOR แม้จะมีราคาค่าตัวที่ค่อนข้างสูง แต่ช้าก่อน! หากใครคิดว่าแพง
เพราะหลังจากที่ผมกลับมาจากทริปการทดสอบอันสุดโสดโหดครั้งนี้ ผมบอกเลยว่า โคตรคุ้มค่า แล้วไม่ได้แพงเกินเหตุไปเลยจริงๆ ซึ่งผมจะได้ทดสอบอะไรบ้าง วันนี้ผมนำมารีวิวให้เพื่อนๆ ได้ทราบกันแล้ว
สำหรับสเปครายละเอียดเน้นๆ ของ Ranger RAPTOR คันนี้ ทาง AutoStation ได้นำมาทดสอบกันแบบจัดเต็ม รวมไปถึงมีคลิปรีวิวมาให้ชมกันแล้ว สามารถกดอ่าน ได้
ที่นี่ หรือจะชมคลิปรีวิวก็ติดตามได้ด้านล่างนี้เลย
ในส่วนรีวิวนี้ ผมจะเน้นการทดสอบบนเส้นทางแบบออฟโรด ซึ่งทริปที่ได้เข้าร่วมนี้ ต้องยอมรับว่า ฟอร์ด ประเทศไทย มีความกล้าจริงๆ เพราะจัดหนักชนิดที่ว่าไม่กลัวรถพังกันเลย
ทั้งสถานีกระโดดความเร็วสูง สถานีขับผ่านน้ำ เนินไต่ระดับ ปีนหิน ขับบนทางกรวดความเร็วสูงจนรถท้ายปัด ก็มีมาให้ทดสอบหมด ทำให้ได้ทราบความสามารถและสมรรถนะรถอย่างเต็มที่
เริ่มต้นทดสอบโดยวิ่งจากใจกลางกรุงเทพมุ่งหน้าสู่เขาใหญ่
หลังจากฟังการบรรยายพร้อมสรุปเส้นทางเรียบร้อย เริ่มต้นออกเดิมจากใจกลางเมือง มุ่งหน้าสู่สนามทดสอบ 8 Speed เขาใหญ่ ที่ๆ เราจะได้เริ่มทดสอบออฟโรดจัดเต็มกันในวันแรก
ความรู้สึกแรกที่รับรู้ได้เมื่อขับ Ranger RAPTOR บนทางออนโรดคือ “เห้ยมันไม่ได้ ก้าวร้าว หรือดุดันแบบที่คิดไว้ตอนแรก” ใช่ครับความคิดนี้เข้ามาในหัวจริงๆ เพราะการซับแรงสั่นสะเทือน รวมไปถึงการเก็บเสียงทำออกมาได้ค่อนข้างดี
ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยไฟฟ้าที่เซ็ตมาค่อนข้างเบา ช่วงล่างที่กลับกันกลายเป็นนุ่มนวล รวมไปถึงการทำงานหลายๆ อย่างจนทำให้คิดว่า มันสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันสบายๆ ขับบนทางยกระดับ ความเร็ว 100-120 ก็ยังเนียนๆ
เสียงที่เข้ามาในห้องโดยสารมีเพียงแค่เสียงลมจากกระจกบังลมหน้าเล็กน้อย บวกกับเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ที่ค่อนข้างเร้าใจ แต่ในบางช่วงยังแอบคิดว่า มันนุ่มนวลไปเสียด้วยซ้ำ
เครื่องใหม่เกียร์ใหม่ อาจไม่ดุดันก้าวร้าว แต่ความเร็วไหลมาแบบไม่รู้ตัว
ทางด้านขุมพลังดีเซลลูกใหม่ 2.0 ลิตร Bi-Turbo หรือ เทอร์โบคู่ 213 แรงม้า แรงบิด 500 นิวตันเมตร กับเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ลูกใหม่ อาจจะด้วยการเซ็ตเกียร์ขนาด 10 สปีด ทำให้ ความกระโชกโฮกฮาก อาจจะไม่มีในเห็นในคันนี้
ซึ่งตอนแรกคาดว่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะดูจากแรงบิดแล้วมหาศาลถึง 500 นิวตันเมตร แต่อาการหลังติดเบาะไม่มี แต่อย่างใด ทุกอย่างทำงานร่วมกันอย่างสมูท ความเร็วไหลอย่างไม่น่าเชื่อ ขับเผลอๆ บางทีจะแตะ 140 เอา ก็ต้องผ่อนคันเร่งให้ลดลงเพื่อความปลอดภัย
ก็ถือว่าเป็นกระบะออฟโรดที่มาพร้อมรูปลักษณ์ หล่อ เท่ ดุดันจากโรงงาน ที่สามารถขับใช้งานได้จริงๆ ในชีวิตในเมืองประจำ ความสะดวกสบาย นุ่มนวลมีมาให้อย่างครบครัน แต่ถ้าขับในที่แคบๆ อาจต้องกะระยะนิดนึงเพราะตัวรถมีขนาดที่ค่อนข้างกว้างและใหญ่กว่า Ranger รุ่นปรกติ (เกือบเต็มเลนถนน)
ถึงสนาม 8 Speed เขาใหญ่ เริ่มทดสอบเส้นทางออฟโรดจัดหนัก
เดินทางมาถึงสนามที่เราจะได้ทดสอบ Ranger RAPTOR กันแบบจัดเต็มที่นี่ ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์อีกวัน เพราะพรุ่งนี้ก็จะได้ขับ ออฟโรดความเร็วสูงในโหมด Baja เช่นเดียวกัน
พระเอกหลักที่จะทดสอบในสนามนี้คือ ระบบช่วงล่าง ตามสเปคดังนี้
ระบบกันสะเทือนหน้า – อิสระปีกนกอลูมิเนียม 2 ชั้นพร้อมโช๊ค FOX Racing Shox แบบมีระบบบายพาสภายใน พร้อมเหล็กกันโคลง
ระบบกันสะเทือนหลัง – คอยส์โอเวอร์ช็อคพร้อมโช๊ค Fox Racing Shox แบบมีซับแท๊งค์และระบบบายพาสภายใน พร้อมวัตต์ลิงค์
จากการสอบถามทีมงาน แค่ระบบช่วงล่าง ทั้งเซ็ตก็ตีราคาได้ไปราวๆ 2.4-2.5 แสนบาท แล้ว เพราะเป็นช่วงล่างที่พัฒนามาเพื่อ Ranger RAPTOR พิเศษ
ณ สนาม 8 Speed ได้ถูกเซ็ตเส้นทางไว้ค่อนข้างโหด เริ่มต้นกันที่การออกตัวจากแทร็ก ลงสู่เส้นทางออฟโรด โดยเปิดโหมดการทำงานปรกติ เมื่อถึงจุดเปลี่ยนโหมดแรก ได้เริ่มทำการปรับมาใช้โหมด Rock เพื่อทดสอบการไต่หิน ในพื้นที่ที่เป็นหินก้อนใหญ่
สถานีนี้อาจไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่ระบบและโหมดรถช่วยให้ขับขี่ได้ค่อนข้างง่าย ระบบถ่ายเทกำลังทำงานได้ค่อนข้างฉลาด ก็ผ่านไปได้แบบไม่ยากเย็นเท่าไรนัก
ถัดมาก็พบการทดสอบระบบ HDC หรือ (Hill Descent Control) ระบบช่วยควบคุมรหะหว่างลงทางลาดชัน ที่คุ้นเคยกัน ต่อมาคือการขับบนทางต่างระดับ 2 ฝั่ง ที่ยกมาเพื่อให้ทดสอบการส่งกำลังล้อทั้ง 4
ในส่วนนี้เริ่มจับความรู้สึกได้ถึงการยันของชุดโช๊คอัพ ที่รองรับได้ดีมาก ตัวรถมีอาการโครงเคลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ระบบช่วงล่างซับมาได้ดี ทำให้ขับผ่านไปอย่างง่ายดาย เพียงแค่ควบคุมพวงลัยให้ไปตามทางเท่านั้น
ต่อจากนั้นได้ทดสอบขับผ่านแอ่งน้ำ ด้วยความที่เป็นรถออฟโรด การลงแอ่งน้ำต้องไม่ธรรมดา แต่ละคันขับกันแบบเต็มที่ บวกกับ สมรรถะเครื่องยนต์ที่มีกำลังค่อนข้างสูง ทำให้ผ่านไปง่ายดาย น้ำกระจายทุกคัน แถมแอ่งนี้เป็นจุดดูดป้ายทะเบียน หล่นกันไปหลายคันเลยทีเดียว
หลังจากลงไปจุ่มน้ำกันให้เปียกกันเรียบร้อย ถึงพื้นที่ทดสอบการขับบนพื้นหญ้าความเร็วสูง วึ่งมีระยะทางให้ราวๆ 300 เมตร เป็นที่ที่ทีมงานให้กดเต็มพร้อม หักพวงมาลัยให้รถเกิดอาการเสียการทรงตัว ก็แก้กันได้ไม่ยาก
จนมาถึงสถานีพระเอกของวันนี้ สถานีสุดท้าย ที่เราจะได้ทดสอบการทำงานช่วงล่างเต็มที่ ด้วยการ กระโดดจากความเร็วสูง จากพื้นที่จนถึงเนิน หากกดคันเร่งมาเต็มที่ จะทำให้ความเร็วรถอยู่ราวๆ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทดสอบกระโดดเป็นเพียงการทดสอบเพื่อให้เห็นสมรรถนะช่วงล่างเท่านั้น โปรดอย่าลอกเลียนแบบ
เป็นสถานีที่ทำให้ผมหวิวไประยะเหมือนกัน เพราะช่วงจังหวะที่รถลอยตัวขึ้นจากพื้นทั้ง 4 ล้อ มีระยะความสูงพอประมาณ พอช่วงที่รถกระแทกลงสู่พื้น โช๊คอัพทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมมาก สามารถเก็บอาการ และระยะการส่ายของรถได้เป็นอย่างดี
รถที่ทดสอบกระโดดทุกคันไม่มีอาการส่ายไปมาแต่อย่างใด ลงมาแน่นๆ ตรงๆ พร้อมเหยียบคันเร่งไปต่อได้อย่างทันที เลยทีเดียว ความดีความชอบอันนี้ต้องยกให้ระบบช่วงล่างจริงๆ
เพราะถ้าเป็นรถที่ไม่ได้เซ็ตมาแนวนี้ อาการส่าย หรือหลุดเส้นทางมีให้เห็นอย่างแน่นอน แต่ในส่วนนี้ต้องขอแนะนำว่า การทดสอบกระโดดนี้เป็นเพียงการทดสอบให้เห็นประสิทธิภาพของระบบช่วงล่างเท่านั้น Ford Ranger RAPTOR ไม่ได้พัฒนามาเพื่อให้กระโดดอะไรแนวนี้ หรือเป็นรถบินได้อย่างที่หลายท่านเข้าใจ
ถัดมากับอีกวันที่ได้ลองขับ Ranger RAPTOR บนทางออฟโรดความเร็วสูง ณ สถานที่ปิดและเซ็ตมาพิเศษ ณ ทุ่งกังหันลมห้วยบง บอกเลยว่าวันนี้ได้ขับบนทางออฟโรดในความเร็วระดับ 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดเส้นทางราวๆ 10 กิโลเมตร!
ด้วยเส้นทางที่เซ็ตมาพิเศษ แต่ก็ยังมีอุปสรรค์อยู่มากมาย ทั้งแอ่งน้ำ ทางต่างระดับ โค้งหักศอก โค้งเล็ก แต่เราจะวิ่งด้วยความเร็วมากว่า 80 ตลอดเส้นทางด้วยโหมดไฮไลท์อย่าง Baja Mode
การทำงานของโหมดนี้ คือจะตอบสนองการขับขี่สไตล์แรลลี่ คือออฟโรดบนความเร็วสูง โดยจะตัดระบบป้องกันล้อหมุนฟรีออก เพื่อให้ไม่ให้แทรกแซงการทำงานของเครื่องยนต์ รวมถึงเกียร์จะถูกปรับให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ระบบจะค้างรอบเครื่องไว้นานขึ้เน และเปลี่ยนเกียร์ลงได้อย่างรวดเร็ว
อีกการทดสอบสุดเร้าใจ เริ่มต้นด้วยการขับบนทางหินลอย ที่ค่อนข้างลื่น ก็มีอาการเพียงเล็กน้อย ผ่านหลุม ผ่านบ่อ ผ่านแอ่งน้ำ อินสตรัคเตอร์ที่นั่งไปด้วยบอกให้ รูดไปเลย ผมก็ทดสอบ ตัวรถมีการเก็บ ซับ แรงและคงความมั่นคงได้ยอดเยี่ยมมาก
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอุปสรรค์รวมไว้ในเส้นทางนี้หมด แต่ก็ขับไปด้วยความเร็วราวๆ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดเส้นทาง ในช่วงโค้งใหญ่ที่ผสมโค้งหักศอก ผนวกกับพื้นที่เป็นหินลอย
ทำเอารถเสียอาการจนท้ายปัด แต่ด้วยระบบและความมั่นคงของตัวรถ ทำให้ผมแก้อาการเพียงนิดเดียว ก็ทำให้ตัวรถกับมามั่นคงเหมือนเดิมได้โดยไม่ยากเย็น แต่ก็หวิวๆ เหมือนกันเพราะท้ายปัดไปพอสมควรแล้ว
ทั้งนี้ต้องขอบคุณตัวรถ ขอบคุณระบบต่างๆ ขอบคุณการทดสอบดีๆ ที่หาได้ยาก เพราะถ้ารถยนต์ไม่แกร่งจริง คงไม่มีใครกล้าให้มาขับแบบบ้าระห่ำกันขนาดนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่า Ford Ranger RAPTOR เอาอยู่จริงๆ โดยเฉพาะทางออฟโรด
กระบะออฟโรดจากโรงงานที่ดีที่สุดตอนนี้ อยากให้ทุกท่านได้ทดลองด้วยตนเองจริงๆ
สรุปโดยรวม หากคุณคาดหวังว่าจะได้ปิกอัพที่สามารถขับได้แบบแรลลี่ ลุยหลักๆ ขับเร็วๆ แบบรถแข่ง Ranger RAPTOR อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น แต่ ณ ตอนนี้ ปิกอัพจากโรงงาน ย้ำ จากโรงงาน ที่พร้อมลุย และช่วงล่างดีขนาดนี้ ก็ต้องยกให้เค้าจริงๆ
บวกกับการใช้งานในชีวิตประจำวันในเมืองได้แบบสบายๆ เพราะระบบช่วงล่างที่เซ็ตมาไม่ให้ดุดันก้าวร้าวเกินไป ทำให้ขับบนถนนปรกติได้อย่างสบาย นุ่มนวล ก็น่าจะตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการได้ไม่น้อยทีเดียว กับค่าตัว 1.699 ล้านบาท นับว่าคุ้มค่า อันนี้ยังไม่รวมรูปลักษณ์ที่ต้องขอพูดแบบหยาบคายเลยว่า “
โคตรหล่อ”
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถือว่าเป็น กระบะออฟโรด ที่ขับสนุกทั้งออนโรด และออฟโรด ช่วงล่างดี โหมดการขับขี่ใช้ได้จริงทุกโหมดโดยเฉพาะ Baja Mode พละกำลังเหลือเฟือแม้จะไม่ได้กระชากก้าวร้าวแบบที่คิดไว้ ซึ่งอยากให้ทุกท่านได้ไปทดสอบขับด้วยตนเองเช่นเดียวกัน
ข้อดี
- รูปลักษณ์ภายนอก หล่อ บึกบึน โดดเด่นบนถนนแน่นอน
- ช่วงล่าง FOX Racing อาจไม่ดีที่สุดสำหรับสายรถแต่งแรลลี่ แต่สำหรับรถกระบะจากโรงงาน ผมกล้าพูดว่า ดีที่สุดแล้ว
- ขับทางออฟโรดได้ยอดเยี่ยม ขับทางออนโรดปรกติในชีวิตประจำวัน ก็ได้สบายๆ เพราะมีความนุ่มนวลผสมมาด้วย
- โหมดการขับขี่พิเศษทุกโหมด ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะพระเอกอย่าง Baja Mode
- จานเบรกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ขึ้น 9.5 มิลลิเมตร พร้อมอัพเกรดให้เบรกมีประสิทธิภาพที่มากกว่า
- เบาะคู่หน้าออกแบบมาค่อนข้างดีกระชับ มั่นคง ตัวไม่โยกโยน
ข้อสังเกต
- ความกระชาก และแรงดึงจาก แรงบิด 500 นิวตันเมตร เห็นผลไม่มาก เพราะการเซ็ตเกียร์ 10 สปีด ที่เน้นสมูท
- การขับช่วงความเร็วต่ำคิดว่า พวงมาลัยเบาไป
- บนทางออนโรด ด้วยการเซ็ตช่วงล่างมาให้ขับขี่ได้ทุกสภาพถนน ทำให้มีการโยน และหวิวๆ บ้างเล็กน้อย
- เบาะนั่งแถวหลังยังมีความชันไปเล็กน้อย หากปรับเองได้อีกนิดจะนั่งสบายและตอบโจทย์มาก
ขอขอบคุณบริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย สำหรับทริปทดสอบ Ranger RAPTOR สุดบ้าระห่ำครั้งนี้ด้วยครับ คำค้นหาที่เกี่ยวข้อง :
เรนเจอร์ แร็พเตอร์Tags : Ford Ranger RAPTOR,เรนเจอร์ แร็พเตอร์,รีวิว ฟอร์ด